ธปท. พร้อมรับฟังทุกภาคส่วนเพื่อปรับปรุงเกณฑ์ BSF ให้ชัดเจน

กรุงเทพฯ 10 เม.ย. – ธปท. ยึดมั่นหลักการของธนาคารกลาง และพร้อมรับฟังทุกภาคส่วนเพื่อปรับปรุงเกณฑ์ BSF ให้ชัดเจน 


นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ขอขอบคุณสำหรับความห่วงใยที่อดีตผู้บริหาร ธปท. ได้ยกขึ้นในเรื่อง การออก  พ.ร.ก. การสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF)  รวมทั้ง เสนอแนะให้ใช้กลไกของธนาคารของรัฐในการตัดสินใจเรื่องการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน 

ธปท. ขอเรียนว่า การออกมาตรการในครั้งนี้เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินเพราะตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีขนาดถึง 3.6 ล้านล้านบาท หรือ กว่าร้อยละ 20 ของ GDP เป็นแหล่งระดมเงินทุนและแหล่งลงทุนที่สำคัญ ถ้าตลาดการเงินส่วนใดส่วนหนึ่งมีปัญหา ก็อาจจะกระทบเป็นลูกโซ่ไปสู่ระบบการเงินโดยรวมและภาคเศรษฐกิจจริง นอกจากนี้ การรอให้เกิดปัญหาขึ้นก่อนแล้วจึงเข้าไปแก้ไขย่อมมีต้นทุนต่อระบบเศรษฐกิจการเงินสูงกว่าการเข้าไปดูแลก่อนที่ปัญหาจะลุกลาม จึงต้องเตรียมเครื่องมือไว้ล่วงหน้า และการตัดสินใจที่ต้องการความรวดเร็วเร่งด่วนอาจจะทำให้ไม่สามารถพึ่งพากลไกการทำงานของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งมีพันธกิจอื่นอยู่แล้ว ในขณะที่ผู้ออกตราสารหนี้ภาคเอกชน ก็มักจะไม่ใช่ลูกค้าที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐมีความคุ้นเคยอยู่เดิม


ทั้งนี้ การออกพระราชกำหนดฯ ให้อำนาจ ธปท. ดำเนินการเรื่อง BFS ไม่ได้เป็นการแก้กฎหมาย ธปท. แต่เป็นการให้อำนาจการดำเนินการชั่วคราวแก่ ธปท. ในการเข้าไปดูแลตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน โดย พ.ร.ก. มีอายุ 5 ปี และไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักการที่วางใน พ.ร.บ. ธปท. 2551 แต่ประการใด

สำหรับความกังวลเรื่องการแทรกแซงการทำงานของ ธปท. เรื่องความเสี่ยงที่จะถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มธุรกิจ หรือแม้กระทั่งไม่มั่นใจในความชำนาญของพนักงาน ธปท. ล้วนเป็นประเด็นที่ ธปท. คำนึงถึงและระมัดระวังมากที่สุด ในการวางแนวทางการทำงานของกองทุน BSF จึงจัดโครงสร้างการกำกับดูแล กระบวนการทำงานและการบริหารความเสี่ยงกองทุน BSF อย่างรอบคอบ รัดกุม และโปร่งใส โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ  กระทรวงการคลัง สำนักงาน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) ธนาคารพาณิชย์ และผู้เชี่ยวชาญอิสระ รวมทั้งการใช้มืออาชีพมาร่วมบริหารจัดการกองทุน โดยธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในฐานะผู้ลงทุนในตราสารหนี้เอกชนด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญ ธปท.  ยังคงยึดหลักการของการเป็นผู้ให้สภาพคล่องแหล่งสุดท้าย (last resort) ที่ให้กู้แก่บริษัทที่มีผลดำเนินธุรกิจดีต่อเนื่อง (viable) เพื่อเป็นแหล่งเงินสำรองระยะสั้น โดยบริษัทต้องมีแผนระดมทุนในระยะยาว และมีธนาคารพาณิชย์เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินความเป็นไปได้ของธุรกิจและร่วมปล่อยสินเชื่อใหม่ โดยผู้ออกหุ้นกู้จะต้องจัดการระดมทุนในตลาด หรือจากระบบสถาบันการเงินมาให้เป็นส่วนใหญ่ ก่อนจะมาขอสภาพคล่องจากกองทุน BSF ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าตลาด โดย BSF จะมีแนวทางที่ชัดเจนหากบริษัทผู้ออกถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating downgrade) ในภายหลัง


ทั้งนี้ ธปท. ยังคงยึดมั่นในหลักการดูแลเศรษฐกิจการเงินให้มีเสถียรภาพ ไม่ใช่การดูแลนักลงทุนรายบุคคล แต่เป็นการดูแลระบบการเงินของประเทศ บรรดาธนาคารกลางในหลายประเทศ ก็ได้เข้ามาดูแลส่วนต่างๆ  ของระบบการเงินที่อาจจะเป็นข้อต่อสำคัญในการสร้างความเสี่ยงเชิงระบบไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ ของระบบการเงิน และสู่ภาคเศรษฐกิจจริงในที่สุด การทำงานของ ธปท. ได้หารือและรับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ จึงขอให้เชื่อมั่นว่าข้อกังวลต่างๆ  ของท่านอดีตผู้บริหารเป็นหลักการทำงานที่ ธปท. ยึดมั่นมาโดยตลอด และ ยินดีรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อนำมาปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้ชัดเจนต่อไป

สำหรับกรณีนายวีรพงษ์ รามางกูร นักเศรษฐศาสตร์และอดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ให้เบรกการให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการนำเงิน 400,000 ล้านบาท  รับซื้อตราสารหนี้ของเอกชน เพราะมองว่าอาจขัดหลักการของการเป็นธนาคารกลางที่ควรทำหน้าที่เป็นผู้ให้กู้เงินรายสุดท้ายของระบบ และกังวลการใช้ดุลพินิจการปล่อยกู้อาจเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนบางราย หากอนาคตมีการฟ้องร้องอาจส่งผลต่อความเชื่อถือของ ธปท.ได้นั้น 

นายเชาวน์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่าว่าการใช้ พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท. ในการเข้ามาดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ผ่านกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) นั้น บทบาทของธนาคารแห่งประเทศ เป็นเพียงผู้ระดมทุนเท่านั้น และเป็นการดำเนินการโดยมีกฎหมายรับรอง ส่วนการตัดสินใจว่าจะให้เอกชนรายใดเป็นผู้กู้ คือ หน้าที่ของคณะกรรมการกองทุน ซึ่งยังต้องติดตามในรายละเอียดเพิ่มเติมของ พ.ร.ก และการตั้งคณะกรรมการของกองทุนนี้อีกครั้งว่าจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร แต่มองว่าคณะกรรมการผู้มีอำนาจ หรือ คณะกรรมการส่วนใหญ่ จะเป็นเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงที่มาจากกระทรวงการคลัง 

ขณะที่หลักการของการตั้งกองทุนนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้แบบเฉพาะการณ์ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรง เพื่อไม่ให้เกิดกรณีแบบกองทุนรวม ดังนั้นการตั้งกองทุน BSF จะช่วยตัดตอนไม่ให้เกิดความกังวัลจนนำไปสู่ปัญหาในตลาดตราสารหนี้ เพราะหากดูมูลค่าในตลาดตราสารหนี้ที่จะครบอายุช่วง 1-2 ปีนี้มีมูลค่ากว่า 700,000 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าสูงมาก หากเกิดความตื่นตระหนกก็จะกระทบเป็นลูกโซ่ ทั้งนี้ท้ายที่สุดจะใช้กองทุน BSF หรือไม่ก็ได้ แต่การเกิดขึ้นของกองทุนนี้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน 

ด้านนายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมามีธนาคารกลางหลายประเทศ เช่น สหรัฐ เข้าไปซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนเพื่อรักษาเสถียรภาพไม่ให้เกิดภาวะการผิดนัดชำระ เพราะหากเกิดขึ้นอาจลุกลามไปถึงสถาบันการเงินได้  และ เกิดอาจเกิดความไม่เชื่อมั่นได้ เช่นเดียวกับที่ธปท.ออกกองทุน BSF เข้ามาซื้อหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทที่มีคุณภาพดี  มีเรตติ้งอย่างน้อย Investment Grade เพื่อดูแลไม่ให้เกิดปัญหาที่ผิดปกติ อย่างไรก็ตามการออกกองทุนดังกล่าวเป็นเพียงภาวะชั่วคราวเท่านั้น 

“ สิ่งสำคัญคืออย่าออกมาตราการที่ทำให้คนเสพติดการช่วยเหลือจนเกินไป การใช้มาตรการพิเศษแค่ชั่วคราวนั้นสามารถทำได้ เพื่อประคองสถานการณ์  เมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติก็ควรยกเลิก และ ไม่ควรส่งเสริมให้คนลงทุนที่เสี่ยงจนเกินไป” นายอมรเทพ กล่าว .- สำนักข่าวไทย 

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ข่าวแนะนำ

ซุ้มไฟเฉลิมพระเกียรติฯ สุดตระการตา รับประเพณียี่เป็ง

ยามค่ำคืนในตัวเมืองเชียงใหม่ ประดับประดาด้วยแสงไฟรับประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทงเชียงใหม่ โดยเฉพาะบนถนนท่าแพ มีการสร้างซุ้มประดับไฟเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 14 ซุ้ม ยาวกว่า 200 เมตร.

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมรีดทรัพย์ รับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพื่อขายงาน

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมเรียกรับเงิน 20 ล้านบาท จากดิไอคอน ยอมรับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพราะต้องการขายงาน

คุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง เจ้าตัวเงียบรีบเดินขึ้นรถตู้

ตำรวจกองปราบคุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง ผู้ต้องหาปัดตอบสื่อ ด้านพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว เพราะมีพฤติการณ์หลบหนี