กรมการแพทย์ 10 เม.ย.-แพทย์สถาบันบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดฯ ย้ำดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หรือเอทิลแอลกอฮอล์ ไม่สามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 และอาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต
นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและกว้างขางไปหลายประเทศ มีผู้ติดเชื้อและชีวิตเป็นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนหวาดกลัวและพยายามหาวิธีการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ เช่น สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอลล์ ไม่ไปในพื้นที่เสี่ยง เป็นต้น แต่มีบุคคลกลุ่มหนึ่งที่พยายามหาวิธีการต่างๆที่เชื่อว่าสามารถฆ่าเชื้อ COVID-19ได้ ไม่ว่าจะเป็นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หรือเอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง และอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
เอทิลแอลกอฮอล์ หรือ เอทานอล (Ethyl Alcohol หรือ Ethanol) เป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95 % ผลิตจากพืชประเภทน้ำตาลและพืชจำพวกแป้งเช่นเดียวกันกับแอลกอฮอล์ที่ผสมในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถึงแม้จะเป็นชนิดของแอลกอฮอล์ที่สามารถรับประทานได้ แต่ด้วยความเข้มข้นที่สูงกว่าในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วไป ทำให้ผู้ดื่มมีภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษและในบางรายรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงเหมาะสำหรับทำความสะอาด เช็ด ถู เพื่อฆ่าเชื้อ
สำหรับเอทานอลสำหรับล้างแผล เจลล้างมือที่มีส่วนผสมของเอทานอล และ Isopropanol ไม่สามารถนำมารับประทานได้เพราะในขั้นตอนการผลิต มีสารเคมีต่างๆที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยส่วนใหญ่จะมีการผสมสีเพื่อให้สังเกตุได้ง่าย
นอกจากนี้ยังมีแอลกอฮอล์ที่ได้จากกระบวนการกลั่นทางปิโตรเคมี เรียกว่า เมทิลแอลกอฮอล์ หรือ เมทานอล (methyl alcohol หรือ methanol) เป็นของเหลวไม่มีสี ระเหยง่าย ติดไฟง่าย มักจะเติมสีเพื่อความแตกต่างในการใช้งานกับเอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งเมื่อโดนผิวหนังจะรู้สึกเย็น นิยมใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างรวดเร็ว มีฤทธิ์ทำลายเนื้อเยื่อ
หากเผลอรับประทานเข้าไปอาจจะทำให้มีอาการตาพล่ามัว มองไม่ชัด การได้รับเมทิลแอลกอฮอล์ หรือ เมทานอล ในปริมาณมากจะทำลายประสาทตาจนตาบอดถาวร ที่สำคัญยังมีผลต่อระบบหายใจ ทำให้ไตอักเสบ กล้ามเนื้อตับตาย หรือโลหิตเป็นพิษ อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด
นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจาก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อหวังฆ่าเชื้อ COVID -19 อาจเป็นสาเหตุให้ผู้ดื่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ โดยเฉพาะผู้ที่นิยมดื่มเป็นประจำมีโอกาสรับเชื้อได้ง่าย เพราะเมื่อแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกาย จะถูกดูดซึมและส่งต่อการทำงานในทุกระบบของร่างกาย เข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้ให้เกิดการติดเชื้อต่าง ๆ ง่ายขึ้น
การรวมกลุ่มเพื่อดื่มสังสรรค์ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการรับเชื้อจากการสัมผัสหรือใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น การดื่มแอลกอฮอล์จากแก้วเดียวกันหรือหลอดเดียวกัน ทั้งนี้การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก นอกจากจะไม่สามารถฆ่าเชื้อได้แล้ว อาจทำให้เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงแรก จะทำให้ร่างกายมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดอยู่ที่ประมาณ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เมื่อมากกว่า 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ทำให้ผู้ดื่มเกิดอาการสับสน มากกว่า 300 ทำให้เกิดอาการง่วง สับสน ซึม มึนงง และถ้ามากกว่า 400 ขึ้นไป อาจทำให้สลบ ซึ่งปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่สูงในระดับนี้ สามารถกดสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ การรู้สึกตัวของผู้ที่ดื่มและทำให้เสียชีวิตได้ -สำนักข่าวไทย