นนทบุรี 10 เม.ย. – พาณิชย์ชี้แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีน หลังโควิด-19 ระบาด แนะเอกชนไทยปรับรูปแบบผลิตสินค้าให้ตรงความต้องการด่วน
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อํานวยการ สํานักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยรายงาน การวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงไปของพฤติกรรมการบริโภคสินค้าและบริการของชาวจีน หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นการสํารวจข้อมูลของบริษัทมินเทล (Mintel) บริษัทวิจัยการตลาดระดับโลก ทําการสํารวจจาก 8 เมืองสําคัญของจีน พบว่าโควิด-19 แพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศจีน กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบทุกระดับชั้น ผู้บริโภคจําเป็นต้องหันมาซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น และร้านค้าปลีกในชุมชนต้องปรับมาใช้วีแชท (WeChat) ในการสื่อสารซื้อขายสินค้ากับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งคาดว่ารูปแบบการซื้อขายเช่นนี้จะยังคงอยู่ในชุมชนชาวจีน หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว เนื่องจากผู้บริโภคจะหันมาใส่ใจเรื่องการป้องกันด้านสุขภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งกระบวนการซื้อขายและความปลอดภัยของสินค้า
ทั้งนี้ ผู้บริโภคจะมุ่งเน้นการซื้อขายสินค้าไปที่อาหารสด เช่น ผัก ผลไม้ และเนื้อสดมากขึ้น เพราะดีต่อสุขภาพมากกว่าสินค้าที่ตั้งอยู่บนชั้นวางของมานาน และผลกระทบอีกด้านหนึ่งที่สําคัญ คือ ภาคการคมนาคมขนส่งและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงโรงแรม รีสอร์ท และการค้าในสถานที่ท่องเที่ยวสําคัญที่ส่งผลกระทบต่อการค้าปลีกและบริการด้านอาหาร ส่วนการจํากัดขอบเขตการเคลื่อนย้ายสินค้าและประชาชน ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งสินค้าออนไลน์ ทําให้สินค้าบางประเภทขาดตลาด และใช้เวลานานในการเติมเต็มคลังสินค้าก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาหารถูกสุขลักษณะไม่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากนัก
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้คนส่วนใหญ่ซื้อสินค้าให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคเพียงแค่ 2-3 วัน แต่หลังการแพร่ระบาดฯ และได้รับคําแนะนําให้อยู่ภายในที่พักประชาชนหันมาเลือกซื้อสินค้าจํานวนมากขึ้นในแต่ละครั้ง เพื่อให้เพียงพออย่างน้อย 1 สัปดาห์ ซึ่งรูปแบบการบริโภคเช่นนี้ คาดว่าจะอยู่ในสังคมจีนต่อไป หลังจากสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว คาดว่าในอนาคตสินค้าที่ขายในรูปแบบ package ขนาดใหญ่จะได้รับความนิยมมากขึ้น
ทั้งนี้ โดยสรุปแนวโน้มพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของชาวจีนที่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลง หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบด้วย ผู้บริโภคจะแสวงหาการรับรองสุขลักษณะและความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น ผู้บริโภคสูงวัยเข้าใจการค้าปลีกมากขึ้น มีการเริ่มหัดใช้เทคโนโลยีการซื้อของออนไลน์ และการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งบริษัทผู้ผลิตก็จะใช้โอกาสนี้ปรับปรุงรูปแบบการนําเสนอสินค้าให้เหมาะสมกับประชากรสูงวัยมากขึ้นเช่นเดียวกัน และรูปแบบการซื้อสินค้าที่เป็น หีบห่อหรือ package ขนาดใหญ่ อาจจะยังได้รับความนิยมต่อไป แต่การซื้อสินค้าครั้งละจํานวนมาก ๆ คาดว่าจะปรับกลับไปสู่การซื้อรูปแบบเดิม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประเด็นที่ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการไทยที่ค้าขายกับตลาดจีนควรทราบและหาวิธีปรับตัวรองรับ เพื่อให้สินค้าไทยยังเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าชาวจีนเช่นที่เคยเป็นมา ดังนั้น จากแนวโน้มโควิด-19 ทําให้พฤติกรรมและแนวทางการบริโภคของชาวจีนเปลี่ยนไปนั้น จึงคิดว่าไทยจะมีผลพวงตามมาเช่นเดียวกัน เช่น ผู้บริโภคชาวไทยจะนิยมการสั่งอาหารผ่านแอปเดลิเวอรี่มากขึ้น ร้านค้าต้องใช้เทคโนโลยีเป็น การจ่ายเงินจะเป็นเงินสดน้อยลง และอื่น ๆ อีกหลายอย่างที่เป็นการเร่งดิสรัปชั่นให้เกิดเร็วขึ้น ซึ่ง ผู้ประกอบการทั้งรายเล็กรายใหญ่คงจะต้องปรับตัวรองรับให้ได้ในอนาคตกันต่อไป.-สำนักข่าวไทย