กทม.9เม.ย.-เลขาธิการ กพฐ. เผย ขอสัญญาณทีวี13ช่อง จากกสทช.จัดการเรียนการสอนทางไกล 1 ก.ค.นี้ แยกเป็นระดับอนุบาล 1 ช่องและป.1-ม.6 อีก12ช่อง ขณะที่จะไม่มีการปิดเทอม1ในปีการศึกษา63 หลังเลื่อนเปิดเทอมช้าไป2เดือน
นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวถึงในการเตรียมความพร้อมในการเปิดภาคเรียน ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ซึ่งได้เลื่อนจากเดิมในเดือนพฤษภาคมเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีนักเรียนในสังกัดเกือบ 7 ล้านคน ครู 5 แสนกว่าคน และโรงเรียนอีก 3 หมื่นกว่าโรงเรียน จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องวางแผนเตรียมความพร้อม ทั้งในส่วนของครูที่ต้องเตรียมเรื่องการสอน โรงเรียนเตรียมเรื่องอุปกรณ์ สื่อการสอน และต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง โดย สพฐ. จะมีการประกาศให้รับทราบว่ามีการเปิดภาคเรียนอย่างไร
โดยปีการศึกษา นี้ ได้เลื่อนวันเปิดภาคเรียนที่ 1 จากเดิมวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 มาเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ซึ่งในแต่ละภาคเรียนจะมีการเปิดเรียนประมาณ 4 เดือน เช่น ภาคเรียนที่ 1 เปิดเรียนตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 จากนั้นจึงเปิดเรียนต่อภาคเรียนที่ 2 ในวันที่ 1 ธันวาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 เพื่อให้ครบตามกำหนดระยะเวลา 4 เดือน ดังนั้นจึงไม่มีการปิดเทอมภาคเรียนที่ 1 แต่จะมีการปิดเทอมภาคเรียนที่ 2 จำนวน 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 เพื่อที่จะสามารถเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2564 ได้ตามปกติเหมือนเดิม แต่หากทางโรงเรียนต้องการให้มีวันปิดเทอมภาคเรียนที่ 1 ก็สามารถยืดหยุ่นได้ โดยอาจจัดการเรียนการสอนในวันหยุด (วันเสาร์ วันอาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์) แล้วจึงทดแทนมาเป็นวันปิดเทอมภาคเรียนที่ 1 ได้ ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลพินิจของโรงเรียน
นายอำนาจ กล่าวว่า ในส่วนของเรื่องการเรียนผ่านระบบออนไลน์ จากข้อมูลการวิจัยพบว่าเด็กสามารถเรียนรู้ได้ผ่านหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นแบบพบหน้ากันโดยตรง (Face-to-face) แบบออนไลน์ หรือผ่านสื่ออื่นๆ การเตรียมความพร้อมตอนนี้เราได้ขอความอนุเคราะห์ไปทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขอช่องทีวี 13 ช่อง สำหรับระดับชั้นอนุบาล 1 ช่อง ระดับชั้นป.1-ม.6 อีก 12 ช่อง โดยใช้เนื้อหาสื่อการสอนจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม สำหรับชั้นอนุบาล-ม.3 ส่วนชั้นม.4-6 จะใช้ครูของเราเองช่วยกันสอน ซึ่งตอนนี้มีครูส่งเนื้อหาการสอนเข้ามามากกว่า 100 เรื่องแล้ว และนอกจากครูของโรงเรียน สพฐ. ยังมีครูของเอกชนสนใจส่งเข้ามาร่วมด้วย
สำหรับกำหนดการรับสมัครนักเรียนชั้น ม.1 และม.4 คาดว่าจะเปิดรับสมัครได้ในวันที่ 3-12 พฤษภาคม 2563 ผ่านทางระบบออนไลน์ โดยมีโรงเรียนอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีแผนรับนักเรียน แต่มีเด็กสมัครเรียนไม่ครบตามแผนหรือพอดีตามแผน กลุ่มนี้สามารถจัดห้องเรียนได้เลย ส่วนโรงเรียนที่มีเด็กสมัครเรียนเกินกว่าแผน มีอยู่ประมาณ 190 โรงเรียน เป็นโรงเรียนที่มีศักยภาพสูง ดังนั้นจึงมีการรองรับระบบออนไลน์อยู่แล้ว เรื่องเดียวที่มีความกังวลคือเรื่องความไม่โปร่งใสหรือไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้นตอนนี้จึงยังไม่ตัดสินใจเรื่องการสอบ ว่าจะจัดสอบอย่างไร ต้องดูสถานการณ์ของโรคเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อน หากจัดสอบในห้องเรียนได้ก็จะใช้มาตรการการเว้นระยะห่าง (Social Distancing) เช่น ในห้องเรียนหนึ่งอาจจัดโต๊ะสอบเพียง 10-15 คน ให้นั่งห่างกัน หรือปล่อยเข้าโรงเรียนทีละ 30 คน ซึ่งหากสถานการณ์คลี่คลายขึ้นแล้ว สพฐ. จะประเมินสถานการณ์อีกครั้ง โดยหลักการคือต้องสอบพร้อมกันทั้งประเทศ เพื่อป้องกันเด็กสอบหลายโรงเรียนซึ่งจะทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบมีความเหลื่อมล้ำกัน
ขณะที่การสอบ GAT/PAT จะมีการประชุมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) อีกครั้งในวันที่ 14 เมษายนนี้ ซึ่งในที่ประชุม กพฐ. เมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่ผ่านมา ก็ได้แจ้งกับสำนักทดสอบทางการศึกษาแล้ว โดยเบื้องต้นการสอบ GAT/PAT จะสอบในช่วงปลายปีอยู่แล้ว อาจไม่กระทบมากนัก แต่ก็ได้เตรียมจัดทำปฏิทินเพื่อให้เด็กสามารถเตรียมความพร้อมได้ หลังการประชุมกับ อว. หากมีความคืบหน้าอย่างไรจะแจ้งให้ทราบต่อไป .-สำนักข่าวไทย