กรุงเทพฯ 8 เม.ย. – กกร.พอใจรัฐเยียวยา 1.9 ล้านล้านบาท แม้ทดแทนความเสียหายเศรษฐกิจที่สูงกว่าล้านล้านบาทไม่ได้ พร้อมเสนอขอให้ธุรกิจโรงแรมทั่วประเทศที่เปิดอยู่ปิดตัวโดยสมัครใจได้
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า มาตรการดูแลช่วยเหลือผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวม 1.9 ล้านล้านบาทนั้น ทาง กกร.เห็นว่าน่าจะช่วยเหลือได้ครอบคลุมพอสมควร แต่โดยรวมอาจจะไม่สามารถทดแทนผลกระทบที่เกิดขึ้น โดย กกร.ประเมินความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยอาจมีมูลค่าสูงถึงหลักล้านล้านบาท และกระทบการจ้างงานหลายล้านคน นอกจากนี้ หากการระบาดของโควิด-19 สามารถยุติลงได้ภายในช่วงครึ่งปีแรก การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ สู่ภาวะปกติก็คงต้องใช้เวลา
ด้านการส่งออกยังได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก แม้ประเทศจีนสถานการณ์การแพร่ระบาดลดน้อยลง แต่การฟื้นฟูเศรษฐกิจยังมีปัญหา แม้เงินบาทแม้อ่อนค่าลง กกร.ประเมินว่าส่งออกปีนี้จะติดลบ 5-10% นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญปัญหาภัยแล้ง ขณะที่ผลไม้เริ่มออกมาในเดือนเมษายนนี้จำนวนมาก แต่ยังคงมีปัญหาด้านการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ ทาง กกร.ยังไม่ปรับประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)ในเดือนนี้ โดยจะพิจารณาผลการออกมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลแต่เบื้องต้นประเมินว่าจีดีพีติดลบแน่นอนไม่สามารถเป็นบวกได้ ด้านอัตราเงินเฟ้อผลจากราคาน้ำมันที่ลดลงรวมถึงการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่ลดลง คาดว่าเงินเฟ้อน่าจะติดลบ 1.5%
นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กกร.ยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมต่อมาตรการช่วยเหลือด้านแรงงานจากสถานการณ์โควิด-19 มาตรการด้านผู้ประกอบการ ขอให้ภาครัฐพิจารณาออกคำสั่งปิดกิจการของรัฐ ให้กับผู้ประกอบการโรงแรมหรืองานบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าข่ายกิจการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการของรัฐ และพนักงานจะได้เงินชดเชยตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด โดยยกเว้นให้โรงแรมหรือบริการอื่นๆ ที่มีความจำเป็น สามารถเปิดกิจการโดยความสมัครใจ อาทิ เป็นที่พักบุคลากรทางการแพทย์ หรือที่พักของผู้กักตัว เป็นต้น
นอกจากนี้ ขอให้ปรับลดค่าไฟฟ้า 5% ทั่วประเทศ และปัจจุบันต้นทุนค่าน้ำมันได้ลดลงอย่างมาก จึงขอให้ค่าเอฟทีสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงด้วย เพิ่มสภาพคล่องโดยการอัดฉีดวงเงินใหม่ให้กับภาคธุรกิจ ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% โดยให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันวงเงินกู้เพิ่มจาก 40% เป็น 80% ให้ภาคเอกชนหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า สำหรับค่าใช้จ่ายในการป้องกันการระบาดของโควิด-19 รัฐจัดสรรงบประมาณในการจ้างงาน ซื้อสินค้า จากผู้ผลิตในประเทศ (Made-in-Thailand) ในราคาที่เหมาะสม โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องใช้สถานการณ์โควิด-19
ส่วนมาตรการด้านแรงงาน ขอให้ภาครัฐพิจารณามาตรการเพิ่มเติมให้แรงงาน ลูกจ้าง ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ได้รับการชดเชยรายได้ โดยพนักงานที่เข้าระบบ Leave without pay จะไม่สามารถได้รับเงินชดเชยการหยุดกิจการของสถานประกอบการชั่วคราวจากคำสั่งของรัฐ และไม่เข้าหลักเกณฑ์เยียวยา 5,000 บาท ดังนั้น ควรมีมาตรการชดเชยช่วยเหลือจากสำนักงานประกันสังคม โดยจ่ายเงิน 50% ของค่าจ้าง ตามที่ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม
อนุญาตให้มีการจ้างงานรายชั่วโมง เพื่อป้องกันปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน โดยกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 325 บาทต่อวัน คิดเป็น ชั่วโมงละ 40-41 บาท ต่อการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง และ ไม่เกิน 8 ชั่วโมง/วัน (ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน) ขอลดอัตราเงินสมทบของนายจ้าง จาก 4% เหลือ 1% ให้เท่ากับผู้ประกันตนตามมาตรา 33
กกร.ยังเสนอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่เงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท โดยยังได้รับ เงินเดือน 75% และไม่ตกงาน รวมทั้งสามารถช่วยเหลือ โดยบริษัทที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ที่มีโอกาสปลดแรงงานออก สามารถที่จะจ่ายเงินเดือนในจำนวนเงิน 75% ของเงินเดือนที่ได้รับปกติ โดยภาครัฐสนับสนุนค่าจ้างเงินเดือน 50% (จากประกันสังคม) และบริษัทเอกชนจ่ายอีก 25% ให้พนักงานและแรงงานที่มีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท นอกจากนี้ ขอให้บริษัทสามารถนำค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนค่าจ้างแรงงานมาใช้หักภาษีได้ 3 เท่าในช่วงระหว่าง COVID-19 ระบาด
สำหรับมาตรการด้านโลจิสติกส์ ขณะนี้แต่ละจังหวัดมีการประกาศมาตรการไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดปัญหาในการขนส่ง กกร.จึงขอเสนอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ประกาศมาตรการจากส่วนกลางเพื่อปฏิบัติเหมือนกันทั่วประเทศ โดยขอให้ กกร. มีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการ เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้ และในช่วงหลังผ่านพ้นการแพร่ระบาดโควิด-19 กกร.มีมติจัดตั้ง E-Commerce Platform เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงตลาดใหม่ ๆ ได้มากขึ้น-สำนักข่าวไทย
