กทม. 6 เม.ย. – ผู้ป่วยโควิด-19 ของไทยที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน มีบุคลากรทางการแพทย์รวมอยู่ด้วยกว่า 30 ราย พวกเขาเป็นด่านหน้าที่ต้องเผชิญกับโรคนี้ แต่ขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกัน ล่าสุดมีการสร้างนวัตกรรม “ตู้ความดันลบสำหรับเก็บสิ่งส่งตรวจ” แบบเคลื่อนที่ มาช่วยแพทย์ตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น
บุคลากรทางการแพทย์ ด่านหน้าที่ต้องเผชิญกับเชื้อโควิด-19 ยังคงต้องทำงานหนักในภาวะเสี่ยงที่มีมากขึ้นทุกวัน ขณะที่อุปกรณ์ป้องกันอย่างหน้ากาก N95, เฟซชิลด์ และชุด PPE ก็มีไม่เพียงพอ สวนทางกับยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แพทย์จากแผนกอื่นๆ ต้องเริ่มเข้ามาช่วยแพทย์อายุรกรรมตรวจคัดกรองผู้ป่วย เก็บสารคัดหลั่งและสิ่งส่งตรวจ หากไม่มีความคุ้นเคยหรือเชี่ยวชาญพอ ก็มีโอกาสติดเชื้อจากผู้ป่วยสูงมาก
ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ และทีมงาน จึงคิดค้นนวัตกรรม “ตู้ความดันลบสำหรับเก็บสิ่งส่งตรวจ” แบบเคลื่อนที่ การทำงานของตู้นี้จะให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าไปอยู่ด้านใน จากนั้นแพทย์จะสวมถุงมือขนาดยาว สอดแขนเข้าไปเก็บสิ่งส่งตรวจ สารคัดหลั่งทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง เพื่อส่งไปตรวจหาเชื้อไวรัส โดยระหว่างทำหัตถการ เชื้อไวรัสที่ฟุ้งกระจายอยู่ภายในตู้ความดันลบแทบจะไม่สามารถหลุดรอดออกมาได้ เนื่องจากมีการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ HEPA Filter เกรด H14 สามารถกรองอนุภาคขนาด 0.1 ไมครอน ได้ถึง 99.995% จากนั้นฉายซ้ำด้วยรังสี UV-C ทำให้เชื้อไวรัสตาย และถูกจำกัดหายไปในอากาศ ตู้นี้จึงมีความปลอดภัยสูงกว่าการใช้หน้าหาก N95 ซึ่งกรองอนุภาคได้เพียง 0.3 ไมครอน
ตู้ความดันลบสำหรับเก็บสิ่งส่งตรวจ” ถูกไปใช้งานจริงในหอผู้ป่วยโควิด โรงพยาบาลจุฬาฯแล้ว 6 เครื่อง ใช้ในการทำหัตถการเก็บสารคัดหลั่งของผู้ป่วยโควิดทั้ง 60 ราย ทุกๆ 2-3วัน เพื่อนำไปตรวจหาเชื้อซ้ำจนกว่าผลจะออกมาเป็นลบ สร้างความปลอดภัยและความอุ่นใจให้กับแพทย์มากขึ้น เช่นเดียวกับแพทย์แผนกอื่นที่ต้องเริ่มมาช่วยแพทย์อายุรกรรมเก็บสิ่งส่งตรวจ
ตู้ความดันลบสำหรับเก็บสิ่งส่งตรวจ” ถูกออกแบบและสร้างเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ โดยภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ ผลิตจากวัสดุอะคริลิกใสอย่างหนา ที่ขึ้นรูปได้ง่าย ผลิตได้เร็ว และทนต่อน้ำยาฆ่าเชื้อทุกชนิด พร้อมติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ HEPA Filter เกรด H14 และหลอด UV-C มีต้นทุนตู้ละ 100,000 บาท ตอนนี้มีภาคเอกชนมอบทุนให้จัดสร้างแล้ว 50 ตู้ คาดจะแล้วเสร็จใน 1 เดือน ก่อนกระจายไปให้โรงพยาบาลยะลา ปัตตานี และโรงพยาบาลอื่นๆ สำหรับผู้ที่สนใจต้องการบริจาคให้โรงพยาบาลต่างๆ สามารถนำแบบ “ตู้ความดันลบสำหรับเก็บสิ่งส่งตรวจ” ไปจัดสร้างหรือต่อยอดพัฒนาให้ดีขึ้นได้ฟรี โดยไม่ต้องขอนุญาต เพื่อช่วยให้นักรบเสื้อกาวน์ รอดพ้นจากการติดเชื้อ ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างเต็มที่. – สำนักข่าวไทย