กรุงเทพฯ 31 มี.ค. – แบงก์ชาติเผยภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนกุมภาพันธ์ยังหดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวติดลบหนักถึง 42.6% จากผลกระทบโควิด-19 พร้อมคาดจีดีพีติดลบทุกไตรมาส โดยเฉพาะไตรมาส 2 จะดิ่งลึกสุด ทำให้ทั้งปีติดลบ 5.3% ขณะที่ตัวเลขการว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น พร้อมลุ้นมาตรการเยียวยาเฟส 3 ช่วยประคองตัวเลขจีดีพีไทย
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2563 หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวติดลบสูงถึง 42.6% การส่งออกโดยรวมยังขยายตัวได้ 3.6% แต่หากไม่รวมการส่งออกทองคำจะติดลบ 1.3% และการนำเข้าสินค้าได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากมาตรการปิดเมืองของจีน ส่งผลให้บัญชีเดินสะพัดเกินดุลกว่า 5,400 ล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มลดลงตามการหดตัวของภาคการท่องเที่ยวและราคาน้ำมันที่ลดลง
ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐและรายจ่ายรัฐวิสาหกิจหดตัวต่อเนื่อง มีเพียงการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวได้จากการเร่งซื้อสินค้า อุปโภคบริโภคที่จำเป็น ส่วนกำลังซื้อของภาคครัวเรือนอ่อนแอมากขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกร ซึ่งประเด็นที่ยังต้องติดตามใกล้ชิดคือปัญหาภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบไปถึงภาคการผลิตด้วย ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากเดือนก่อนตามราคาพลังงานที่ลดลง ขณะที่เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตจะเป็นผลดีต่อการส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตร
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. ระบุว่าประมาณการณ์ตัวเลขจีดีพีของแบงก์ชาติที่คาดว่าทั้งปีจะติดลบ 5.3% นั้น เป็นการหดตัวทุกไตรมาสและหดตัวลึกสุดไตรมาส 2 โดยรวมสมมติฐานการหดตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะไตรมาส 2 อาจไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะสามารถควบคุมได้ ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาดีขึ้นไตรมาส 3 และ 4 แบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะยังมีการระบาดของประเทศอื่น ขณะที่ปี 2564 ยังมีมุมมองที่เป็นบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ยังรวมสมมติฐานมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แล้ว ทั้งมาตรการเฟส 1 และ 2 รวมถึงมาตรการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท จำนวน 3 ล้านคน แต่ตัวเลขล่าสุดมีผู้ลงทะเบียนกว่า 20 ล้านคนนั้น ยังต้องติดตามว่าท้ายที่สุดจะจ่ายเยียวยาจำนวนเท่าใด และยังไม่ได้รวมสมมติฐานการใช้มาตรการพักชำระหนี้ที่ออกมาล่าสุด ส่วนมาตรการเฟส 3 ที่เตรียมออกมาและคาดว่าจะมีการใช้งบสูงกว่าเฟส 1 และเฟส 2 ที่ใช้งบรวมกันกว่า 400,000 ล้านบาทนั้น หากเป็นจริง จะส่งผลดีต่อตัวเลขจีดีพี 2-3%
ขณะที่ตัวเลขการว่างงานล่าสุดเพิ่มขึ้น 0.1% นั้น ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ แต่จากสถานการณ์ขณะนี้ตัวเลขการว่างงานมีแนวโน้มมากขึ้น แต่จะไม่กระโดดเหมือนกับอัตราการว่างงานของสหรัฐ เพราะโครงสร้างตลาดแรงงานไทยหากมีงานทำ 1 ชม. ก็ไม่นับว่าเป็นอัตราการว่างงาน แต่สิ่งที่ ธปท.ให้ความสำคัญคือ รายได้ที่หายไปและจำเป็นต้องได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ ซึ่ง 5,000 บาทอาจไม่เพียงพอ
ขณะที่เสถียรภาพของสถาบันการเงินขณะนี้มีเงินทุนสำรองค่อนข้างสูง และเพียงพอที่จะรองรับตัวเลขหนี้เสียที่จะเพิ่มขึ้นได้อีกมาก ส่วนกรณีความกังวลที่ ธปท.ออกมาตรการเสริมสภาพคล่องกองทุนนั้น แม้เป็นมาตรการใหม่และเม็ดเงินค่อนข้างสูง แต่เงินที่นำมาใช้เป็นเงินบาท จึงไม่มีผลกระทบต่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอย่างแน่นอน .-สำนักข่าวไทย