กรุงเทพฯ 1 ธ.ค.- กระทรวงอุตสาหกรรมยืนยันในการเปิด Motor Expo 2016 ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะไม่ยอมตกเทรนอุตสาหกรรมยานยนต์โลก พร้อมรับนโยบายนายกรัฐมนตรีเร่งสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์ พร้อมลงเสาเข็มกลางปีหน้า
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในการเปิดงาน “มหกรรมยานยนต์ หรือ Thailand Motor Expo 2016” ครั้งที่ 33 จัดขึ้นที่เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 1-12 ธันวาคมนี้ ว่า เทคโนโลยียานยนต์เปลี่ยนแปลงรัฐบาลไทยวางนโยบายเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมยานยนต์โลกแล้ว และประเทศไทยจะไม่ยอมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยขณะนี้เป็นฐานผลิตรถยนต์อันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียนต้องไม่ตกเทรนอุตสาหกรรมยานยนต์โลกอย่างเด็ดขาด และจะต้องไม่ตกอันดับจากการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยขณะนี้ รัฐบาลเตรียมพร้อมที่จะรองรับการเข้ามาลงทุนของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะมีผู้สนใจลงทุนผลิตทั้งรถยนต์ประเภท Plugin Hybrid รถยนต์ใช้แบตเตอร์รี่เต็มรูปแบบ
นอกจากนี้ ทางรัฐบาลยังมีแผนตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ โครงการของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาปรับแผนลงทุนก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์ฯ ระยะแรกให้เสร็จเร็วขึ้นกว่ากำหนดเดิม 1 ปี จากแผนเดิม สมอ.และที่ปรึกษาเสนอแผนก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ทั้ง 3 ระยะในปี 2563 จึงรับนโยบายมาปรับแผนการลงทุนระยะที่ 1 ให้เสร็จเร็วขึ้น จากเดิมปี 2563 เป็นปี 2562 โดยงานออกแบบจะเสร็จสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าและเริ่มก่อสร้างกลางปีหน้า เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคนี้
สำหรับศูนย์ทดสอบยานยนต์ฯ ที่ สมอ.จะลงทุนได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลรวม 3,700 ล้านบาท แบ่งการลงทุนเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรกเป็นการลงทุนในศูนย์ทดสอบกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางล้อตามมาตรฐาน UN R 117 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 700 ล้านบาท เป็นการลงทุนโดยรัฐบาลทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อให้ภาคเอกชนที่จะนำยางล้อมาทดสอบมีความมั่นใจในการนำสินค้ามาทดสอบว่าความลับทางการค้าจะไม่รั่วไหล นอกจากนี้ ยังช่วยให้ผู้ผลิตยางล้อในประเทศไทยไม่จำเป็นต้องส่งยางล้อไปทดสอบในต่างประเทศอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะศูนย์ฯ จะสามารถให้บริการทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ยานยนต์และชิ้นส่วนยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 และยางล้อทุกประเภทได้เองในประเทศเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้า ทำให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ ยังมีส่วนช่วยดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา ขณะที่โครงการลงทุนระยะ 2 ก่อสร้างสนามทดสอบ 7 แทร็ก และเครื่องมือทดสอบมาตรฐานภายใต้ข้อตกลง ASEAN MRA 19 มาตรฐาน และระยะที่ 3 จะเป็นการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน เพื่องานวิจัยพัฒนายานยนต์และชิ้นส่วนเป็นหลัก
ขณะเดียวกันรัฐบาลมีนโยบายดำเนินโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development หรือ EEC) ในพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย ชลบุรี-ระยอง-ฉะเชิงเทรา คาดว่าต้นปีหน้าจะสามารถประกาศใช้ พ.ร.บ.การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ…. เพื่อยืนยันที่ภาครัฐจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งการขยายมอเตอร์เวย์จากพัทยาจังหวัดชลบุรีถึงจังหวัดระยอง การขยายท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 รวมถึงการจะลงทุนรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ และพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้รองรับการเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานและศูนย์พัฒนาชิ้นส่วน การผลิตชิ้นส่วนเกี่ยวกับอากาศยาน ซึ่งจะทำให้ภาคตะวันออกสามารถอำนวยความสะดวกการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมยนต์ ที่ขณะนี้เป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตรถยนต์หลายแห่งด้วย จึงหวังว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะมีพัฒนาการต่อไป. –สำนักข่าวไทย