กรุงเทพฯ 25 มี.ค. – วันพรุ่งนี้ (26 มี.ค.) จะมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยนายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์ยืนยันมีมาตรการเข้มข้นขึ้น อาจกระทบต่อประชาชนบ้าง แต่ขอให้มั่นใจ ร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อฝ่าวิกฤติ
ก่อนที่พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จะมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ ในวันพรุ่งนี้ (26 มี.ค.) วันนี้ นายกรัฐมนตรี แถลงการณ์ถึงความจำเป็นที่ต้องใช้กฎหมายพิเศษ เพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดจากโรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรง โดยจะรวมศูนย์มาที่นายกรัฐมนตรีในการสั่งการ เพื่อการทำงานที่เป็นเอกภาพ ขจัดปัญหา “ต่างคนต่างทำ” ของหน่วยงานต่างๆ พร้อมแบ่งการทำงาน 5 ด้าน โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข, ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าด้านการสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัด-ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าด้านการควบคุมสินค้าและเวชภัณฑ์, ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าด้านการต่างประเทศ และการคุ้มครองช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าด้านความมั่นคง การปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ รวมทั้งมีทีมงานจากทุกภาคส่วนเป็นคณะที่ปรึกษา
ทั้งหมดจะมีการประชุมร่วมกันทุกวัน ผู้แถลงข่าวคือ นายกรัฐมนตรี หรือผู้ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ขอความร่วมมือสื่อมวลชนนำเสนอข่าวอย่างรับผิดชอบ พร้อมสั่งให้มีการแถลงข่าวสถานการณ์และมาตรการต่างๆ วันละ 1 ครั้ง ลดความซ้ำซ้อน บิดเบือนข้อมูล รับข้อมูลแหล่งเดียวเป็นประจำทุกวัน โดยนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ภายใต้พระราชกำหนดฉบับนี้ จะไม่มีการปิดร้านค้าที่ขายสิ่งของจำเป็น
ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงข้อกำหนดตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เช่น ห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง ตามที่ผู้ว่าฯ ประกาศสั่งปิด, ห้ามกักตุนสินค้า, ปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร, บุคคลเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ต้องอยู่ในบ้าน คือ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัว เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปีลงมา เว้นแต่มีความจำเป็น เพื่อไปพบแพทย์ หรือต้องติดต่อราชการ, งดหรือชะลอเดินทางข้ามจังหวัด หากไม่จำเป็น
ส่วนผู้ที่ต้องทำงานและเดินทางข้ามจังหวัด เช่น จากนนทบุรี สมุทรปราการ เข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ สามารถทำได้ แต่ต้องผ่านจุดสกัด ตรวจวัดอุณหภูมิทุกครั้ง หากเดินทางบ่อย อาจต้องออกใบอนุญาต ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด มีโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548, พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558, พ.ร.บ.ราคาสินค้าและบริการ 2542 โดย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักร ช่วงแรกเป็นเวลา 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563. – สำนักข่าวไทย