นนทบุรี 25 มี.ค. – “จุรินทร์” เข้มตั้งวอร์รูมเกาะติด 7 กลุ่มสินค้าและบริการ เร่งกระจายแบบเดลิเวอรี่ -ออนไลน์ สนองความต้องการของประชาชนทั่วประเทศ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงภายหลังประชุม คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ว่า ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าควรตั้งวอร์รูมสำหรับ 7 กลุ่มสินค้าและบริการสำคัญ เพื่อให้กระทรวงพาณิชย์และเอกชนที่เกี่ยวข้องได้ทำงาน เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันในการประเมินสถานการณ์ร่วมกันว่าในภาคส่วนของการผลิต การแปรรูปตลาด รวมทั้งการกระจายสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ เช่น เดลิเวอรี่ หรือออนไลน์ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อสนองต่อความต้องการของประชาชนในประเทศขณะนี้ รวมทั้งสถานการณ์ส่งออกและประเมินว่ามีสินค้าใดหรือไม่ที่มีความจำเป็นจะต้องมีการกันชน เพื่อที่จะรองรับสถานการณ์หากความต้องการมีเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ 7 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.อาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน ประกอบด้วย บะหมี่สำเร็จรูป น้ำดื่ม น้ำผลไม้ เครื่องดื่ม เป็นต้น 2.กลุ่มข้าว 3.กลุ่มปศุสัตว์ ประกอบด้วย ไก่ ไข่ หมู กุ้งและสินค้าอื่น เป็นต้น 4.ผลไม้ซึ่งกำลังจะออกมากช่วงต้นเดือนหน้า 5.วัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารสัตว์ ซึ่งจะเป็นต้นทางของการผลิตไก่ หมู กุ้ง สินค้าบริโภคต่อไป ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้ ประกอบด้วย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ถั่วเหลือง เป็นต้น 6.เวชภัณฑ์ต่าง ๆ รวมทั้งเจลแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัย และ 7.บริการโดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและโลจิสติกส์ต่าง ๆ และการให้บริการเดลิเวอรี่ส่งอาหารไปถึงบ้าน เป็นต้น ซึ่งจะดำเนินการให้เสร็จ เพื่อให้ได้คำตอบโดยเร็วว่าต้องมีมาตรการใดเพิ่มเติม หรือมีสิ่งที่ภาครัฐจำเป็นต้องแก้ไข เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนทั่วประเทศในสถานการณ์นี้ให้ดีที่สุด
รมว.พาณิชย์ กล่าวต่อว่า ปัญหาเท่าที่เห็นร่วมกันของทุกกลุ่ม คือ การขนส่งไม่ว่าจะเป็นการขนส่งเข้าสู่โรงงาน หรือขนส่งจากโรงงานไปยังศูนย์กระจายสินค้าจนกระทั่งถึงมือผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นปัญหารวมที่ต้องการให้การลำเลียงสินค้าต่าง ๆ เป็นไปด้วยความสะดวก ซึ่งจะต้องขอให้ทางกระทรวงคมนาคมช่วยผ่อนคลายกฎระเบียบบางอย่าง เพื่อให้สามารถทำได้สะดวกและคล่องตัวขึ้น ทั้งกฎระเบียบอื่น ๆ เงื่อนเวลาที่จะส่งสินค้าอุปโภคบริโภคจากศูนย์กระจายสินค้าหรือยังมือผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับสถานการณ์ไข่ไก่ ยืนยันปริมาณการผลิตไข่ไก่ปีนี้ยังคงเพียงพอกับความต้องการของประชาชน โดยการบริโภคไข่ไก่ในประเทศเฉลี่ยที่ 40 ล้านฟอง หรือสัปดาห์ละ 280 ล้านฟอง แต่ช่วง 2 – 3 วันที่ผ่านมา มีความต้องการซื้อตุนเป็นเท่าตัวมากกว่าการบริโภคจริง รวมถึงจากสถานการณ์ส่งออกไข่ไก่ระหว่างเดือน มกราคมที่ผ่านมา 9 ล้านฟองเท่านั้น เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 20-30 ล้านฟอง ด้านราคาไข่ไก่สูงขึ้นเฉลี่ย 20 สตางค์ต่อฟองนั้น สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ทางกรมการค้าภายในมีการตรวจสอบเป็นประจำ หากผู้ใดที่จำหน่ายไข่ไก่เกินราคาก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
ส่วนวันพรุ่งนี้ (26 มี.ค.) กระทรวงพาณิชย์จะเชิญผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งขายหน้าร้าน ขายออนไลน์ ผู้ให้บริการเดลิเวอรี่ อาทิ ไลน์แมน ลาลามูฟ ฟู้ดแพนด้า แกร๊บ รวมทั้งผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ต สมาร์ทโชห่วย มาหารือถึงปัญหาอุปสรรคใดที่ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ส่งเสริม สนับสนุนหรือช่วยแก้ปัญหาในภาวะวิกฤติโควิดและอาจมีมาตรการเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ อาจทำให้ประชาชนต้องอยู่บ้านให้ได้รับบริการอย่างดีที่สุด ทั่วถึงที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยพรุ่งนี้จะได้มีคำตอบเพิ่มเติม . – สำนักข่าวไทย
ทั้งนี้ กรอ.พาณิชย์ ประกอบด้วย ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนจากภาคเอกชน ประกอบด้วย สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมธนาคารไทย สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือ และสมาคมอื่น ๆ เช่น สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย สมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) สมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย สมาคมขนส่งโลจิสติกส์ไทย สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ .-สำนักข่าวไทย