fbpx

ครม.เห็นชอบจ่ายเงินช่วยเหลือแรงงาน 5 พันบาทต่อเดือน

ทำเนียบฯ 24  มี.ค. – ครม.เห็นชอบมาตรการดูแลและเยียวยา  ลดผลกระทบจาก COVID-19 เฟส 2 จ่ายแรงงาน 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน หักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพไม่เกิน  25,000 บาท ยกเว้นภาษีบุคลากรทางการแพทย์  ปลอบใจเกษตรกร พร้อมออกมาตรการดูแลภายหลัง 


นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ร่วมแถลงมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2  หลังจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสขยายวงกว้างขึ้น  ทางการต้องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว เช่น ห้างสรรพสินค้า การระงับการให้บริการของสถานบริการต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และอีกหลายพื้นที่ การงดกิจกรรม อาทิ การแข่งขันกีฬา งานบันเทิง งานอบรมสัมมนา การแสดงสินค้า เป็นต้น จึงกระทบต่อแรงงานหลายกลุ่ม 

กระทรวงการคลังจึงเสนอมาตรการเร่งด่วน  ประกอบด้วย  1.มาตรการดูแลและเยียวยา “แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม”  เพราะได้รับผลกระทบจากการหยุดประกอบกิจการของสถานประกอบการที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด   เช่น สนามมวย สนามกีฬา ผับ สถานบันเทิง โรงมหรสพ นวดแผนโบราณ สปา ฟิตเนส สถานบริการอื่น ๆ เป็นต้น โดยไม่รวมข้าราชการและข้าราชการบำนาญ และไม่รวมถึงกลุ่มเกษตรกรได้รับความช่วยเหลืออื่น ๆ จากรัฐบาลอยู่แล้ว  รัฐเตรียมมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมภายหลัง  


ในวันเสาร์นี้ 28 มีนาคมนี้ เตรียมเปิดให้กลุ่มเป้าหมาย 3 ล้านคน ลงทะเบียนผ่าน  www.เราไม่ทิ้งกัน.com ของธนาคารกรุงไทย เป็นผู้รับลงทะเบียน เพื่อโอนเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563)  โดยผู้ลงทะเบียนกรอกรายละเอียดบัญชีพร้อมเพย์ตามเลขบัตรประจำตัวประชาชน  หรือบัญชีธนาคาร เพื่อโอนเงินเข้าบัญชี และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์  วงเงินช่วยเหลือประมาณ 45,000 ล้านบาท 

นายสมคิด กล่าวย้ำว่า การให้เงินช่วยเหลือครั้งนี้ 5,000 บาท อาจเพียงพอเพื่อดำรงชีพในช่วง 3 เดือนที่มีปัญหาระบาดหนัก หากสถานการณ์ยืดเยื้อรัฐบาลพร้อมประกาศมาตรการดูแลเพิ่มเติม รวมถึงผู้มีปัญหาด้านการเงิน ผ่อนงวดรถ ผ่อนบ้าน หากมีปัญหาเจรจาหนี้ให้โทรปรึกษาหรือร้องเรียนกับกระทรวงการคลัง เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทยได้หารือช่วยเหลือกันครั้งนี้แล้ว สำหรับผู้ว่างงานช่วงนี้แบงก์รัฐ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ยังเปิดฝึกอบรมอาชีพเติมความรู้ได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ 300 บาท หากอบรม 7 วัน ได้เงินเบี้ยเลี้ยง 2,100 บาท ไม่รวมกับเงินประกันสังคมที่กองทุน สปสช.จ่ายช่วยเหลือให้ช่วงนี้  และเตรียมออกมาตรการดูแลเพิ่มเติมแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับเกษตรกร เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะต่อไปเพิ่มเติม 

นายลวรณ กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมด้านเงินทุน คือ โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน ลดปัญหาพึ่งพาเงินนอกระบบ เพื่อใช้เงินดำรงชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน  กู้ผ่านธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส.สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท (ธนาคารออมสิน 20,000 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. 20,000 ล้านบาท) วงเงินต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.10 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน เปิดรับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563


และหากใครต้องการเงินสภาพคล่องเพิ่มเติม  เตรียมโครงการสินเชื่อพิเศษ แต่ต้องมีหลักประกันผ่านธนาคารออมสิน วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท กู้ต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 รองรับผู้มีปัญหากิจการขนาดเล็ก หรือหมุนเวียนในกิจการ ขณะที่โรงรับจำนำของ กทม. ธนาคารออมสิน เตรียมวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท  เพื่อให้กู้สำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.10 ต่อปี จากนั้นโรงรับจำนำ กทม.คิดดอกเบี้ยจากประชาชน ไม่เกินร้อยละ 0.125 ต่อเดือน ระยะเวลา 2 ปี 

นายเอกนิติ กล่าวว่า มาตรการด้านภาษีได้เลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ขยายเป็นสิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เพื่อบรรเทาภาระให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น  รัฐบาลยังเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ  จากเดิมตามจ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท เพิ่มเป็นไม่เกิน  25,000 บาท และเมื่อรวมกับการหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท เริ่มตั้งแต่ปีภาษี 2563 เป็นต้นไป เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น  

สำหรับมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าตอบแทนเสี่ยงภัยของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข  ได้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยจากไวรัส COVID-19 ค่าตอบแทนบุคคลที่มิใช่ข้าราชการหรือข้าราชการที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข  รวมถึงผู้เชี่ยวชาญเทนิคการแพทย์ ผู้ขับรถพยาบาล หรือบุคคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ COVID-19  ไม่ให้มีภาระภาษี 

สำหรับมาตรการดูแลและเยียวยาผู้ประกอบการเพิ่มเติม ประกอบด้วย 7 มาตรการ ดังนี้

1. โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 เพื่อเสริมสภาพคล่อง  ได้แก่ ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่เกี่ยวเนื่อง (รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า) บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 สำหรับ 2 ปีแรก ระยะเวลาการกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 5 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 หลังจากในเฟสแรก ธนาคารออมสิน ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านสถาบันการเงินต่าง ๆ ไปแล้ว  

2.มาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล  ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำหรับบัญชี ปี  2562 ต้องยื่นรายการชำระภาษี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน  2563 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2563 ขยายออกไปเป็น 31 สิงหาคม  2563 (สำหรับ ภ.ง.ด.50)  ส่วนรอบบัญชีปี  2563 (ภ.ง.ด. 51)  ต้องยื่นรายการชำระภาษีตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม  2563 ถึงวันที่ 29 กันยายน 2563 ขยายออกไปวันที่ 30 กันยายน  2563  เพื่อให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น  วงเงินการเลื่อนชำระภาษีทั้ง 2 กลุ่ม 150,000 ล้านบาท  

3. มาตรการเลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษี   เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นต้น ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ  โดยกระทรวงการคลังจะพิจารณาเป็นรายกรณี เพื่อเป็นการลดภาระในการจัดทำเอกสารและการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ  4. มาตรการขยายเวลาการชำระภาษีให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน  กรมสรรพสามิตกำหนดปั๊มน้ำมัน เดิมยื่นขอชำระภาษีภายใน 10 วัน ขยายเป็นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่นำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรมหรือคลังสินค้าทัณฑ์บน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563) 

5. มาตรการขยายเวลาการยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษี  สำหรับผู้ประกอบกิจการสถานบันเทิง เป็นการชั่วคราว  ได้แก่ ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับ บาร์ ค็อกเทลเลาจน์ รวมถึงสถานที่ที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 น.และสถานอาบน้ำหรืออบตัว และนวด ตลอดจนกิจการเสี่ยงโชคประเภทสนามแข่งม้า และสนามกอล์ฟ ให้ยื่นแบบรายการและชำระภาษีภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 

6. มาตรการยกเว้นอากรขาเข้า สำหรับสินค้า ของใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกัน COVID-19  ตามรายการ กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด ตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงการคลังมีผลบังคับใช้ จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 7. มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ Non Bank ที่ให้บริการบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรายย่อย ในระดับจังหวัด  ทั้งธุรกิจเช่าซื้อ ลีสซิ่ง  พร้อมยกเว้นภาษีสำหรับการ ปลดหนี้ของเจ้าหนี้ การโอนอสังหาริมทรัพย์ที่จำนองเป็นประกันหนี้ของเจ้าหนี้ให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้าหนี้ผ่อนปรนการจำหน่ายหนี้สูญ  สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม  2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม  2564 สำหรับการลดค่าธรรมเนียม การโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์  กรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้  ลดเหลือร้อยละ 0.01  นับตั้งแต่ประกาศบังคับใช้ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 22564 ทั้งนี้  เพื่อช่วยให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น  .-สำนักข่าวไทย 

 

 

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

พายุฤดูร้อนถล่ม 31 จังหวัด ฝนฟ้าคะนอง-ลมแรง

กรมอุตุฯ ออกประกาศเตือนพายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 5 ฝนฟ้าคะนอง-ลมกระโชกแรง วันนี้ (3 พ.ค.) ได้รับผลกระทบ 31 จังหวัด ในภาคเหนือ อีสาน และภาคกลาง

เศร้ารับวันแรงงาน! โรงงานประกาศปิดกิจการกะทันหัน

พนักงานโรงงานผลิตกระจกเก่าแก่ใน อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ยื่นคำร้องต่อสำนักงานสวัสดิการฯ จ.สมุทรปราการ ให้นายจ้างจ่ายชดเชยตามกฎหมาย หลังโรงงานติดประกาศปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด

ข่าวแนะนำ

รัฐบาลจัดงานสโมสรสันนิบาต เฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในวันฉัตรมงคล

รัฐบาลจัดงานสโมสรสันนิบาต เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันฉัตรมงคล 4 พฤษภาคม 2567

เหล่าทัพพร้อมใจยิงสลุตหลวง เฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในพระราชพิธีฉัตรมงคล

กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ยิงสลุตหลวง 21 นัด เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธีฉัตรมงคล

เพลิงไหม้โกดังโรงงานกระดาษรายใหญ่ จ.สมุทรสาคร

เพลิงไหม้โกดังโรงงานกระดาษใน ต.บ้านเกาะ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ไฟโหมลุกไหม้อย่างรุนแรงในตัวอาคาร ขณะนี้เจ้าหน้าที่ควบคุมเพลิงให้อยู่ในวงจำกัดได้ เสียหายแล้วประมาณ 10 ไร่