กรุงเทพฯ 23 มี.ค. – ห้างสรรพสินค้า เป็นหนึ่งใน 25 สถานที่ที่ กทม.มีมาตรการปิดเป็นเวลา 22 วัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในกรุงเทพฯ มีห้างและศูนย์การค้ากว่า 100 แห่ง มีพนักงานจำนวนมาก คุณสันติวิธี พรหมบุตร ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย ไปตามดูชีวิตของพนักงานส่วนหนึ่ง พบว่า หลายคนไม่มีค่าจ้างในช่วงหยุด 22 วันนี้ และใช้ชีวิตอย่างวิตก
ขนมปัง 2 ชิ้น และเครื่องดื่มอีก 1 ขวด เป็นมื้อเที่ยงอันเรียบง่ายของ กัมปนาท ทันวิมา ชายหนุ่มวัย 28 ปี ที่จ่ายเงินค่าอาหารมื้อนี้อย่างประหยัดที่สุด 20 บาท เพราะต้องหยุดงานเป็นวันที่ 2 แล้ว หลังรัฐสั่งปิดห้างสรรพสินค้า สถานที่ทำงานของเขา เป็นเวลา 22 วัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
กัมปนาท เป็นพนักงานร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าใหญ่แห่งหนึ่ง เขาได้เงินเดือน 12,000 บาท แต่การหยุด 22 วันนี้ นายจ้างไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้ เฉลี่ยวันละ 380 บาท รวมแล้วเขาจะขาดรายได้ 8,360 บาท เขาบอกว่า ปกติเงินเดือนไม่ค่อยพอใช้จ่ายอยู่แล้ว มีภาระค่าเช่าห้องเดือนละ 2,200 บาท ค่าผ่อนรถจักรยานยนต์ 3,000 บาท ส่งให้พ่อแม่อีก 3,000 บาท แต่เดือนนี้ต้องปรับตัวให้อยู่รอด อยากกลับบ้านเกิดที่อุบลราชธานี แต่เห็นสภาพคนเดินทางจำนวนมาก จึงตัดสินใจอยู่ที่นี่ไปก่อน แต่ละวันจะมานั่งคุยกับลุงร้านตัดเย็บใต้อพาร์ตเมนต์ โดยใช้หน้ากากอนามัย ซึ่งที่ทำงานแจกให้ใช้มา 2 สัปดาห์แล้ว เป็นเครื่องป้องกัน
เช ชาวเมียนมาเชื้อสายกะเหรี่ยง เป็นลูกจ้างร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง เขากำลังปลอบโยนภรรยาไม่ให้หวั่นวิตกมากเกินไป ทั้งคู่ทำงานที่เดียวกัน และต้องหยุดงานแบบไม่ได้เงินค่าจ้าง 22 วัน
เช และภรรยา ตัดสินใจไม่กลับเมียนมา บ้านเกิดที่จังหวัดเมียวดี เพราะกลัวว่าจะติดเชื้อโควิด-19 โดยไม่รู้ตัว และอาจนำเชื้อไปแพร่ให้ลูกวัย 2 ขวบ และญาติพี่น้อง เพราะพวกเขาทำงานบริการ ต้องเจอผู้คนจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา หลังต้องหยุดงานเป็นวันที่ 2 พวกเขาเก็บตัวในห้องพักแคบๆ ตรวจสอบข่าวจากเฟซบุ๊กในมือถือ ใช้เงินเก็บที่มีอยู่กว่า 10,000 บาท ซื้อข้าวสารตุนไว้ 20 กิโลกรัม
ประมวล ประสานเสียง และภรรยา ทำงานร้านอาหารเดียวกันในห้างสรรพสินค้าใหญ่แห่งหนึ่ง ได้ค่าจ้างรายวันรวมกันเดือนละกว่า 20,000 บาท 22 วันที่ต้องหยุด พวกเขาไม่ได้เงินค่าจ้างเช่นกัน เพราะมีค่าใช้จ่ายรายวัน ค่าห้อง ที่ต้องจ่ายอยู่แล้ว และสถานการณ์แบบนี้ไม่สามารถหางานที่ไหนทำได้
ห้างสรรพสินค้า เป็นหนึ่งในสถานที่ที่กรุงเทพมหานคร มีคำสั่งปิด 22 วัน นับจากวันที่ 22 มีนาคม – 12 เมษายน 2563 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 หลังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละนับร้อยราย ข้อมูลในระบบของกรุงเทพมหานคร มีห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าเล็กใหญ่ราว 138 แห่ง แต่ละแห่งมีพนักงานจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานภาคบริการ ที่มีทั้งคนไทยและแรงงานจากเพื่อนบ้านเมียนมา ลาว กัมพูชา ซึ่ง 22 วันนี้ มีทั้งคนที่ยังคงรอดูสถานการณ์ในกรุงเทพฯ และคนที่ตัดสินใจเดินทางออกจากกรุงเทพฯ กลับภูมิลำเนาของตัวเอง. – สำนักข่าวไทย