กรุงเทพฯ 23 มี.ค. – กรมปศุสัตว์เตรียมพร้อมเต็มที่ จัดทำแผนเฝ้าระวังโรคติดเชื้อในสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ยืนยันยังไม่มีรายงานการเกิดโรคในสัตว์
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เลขานุการร่วมของคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ กล่าวว่า ได้จัดทำแผนเฝ้าระวังโรคติดเชื้อต่าง ๆ ในปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยงที่อยู่กลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยยืนยันว่าเป็นโควิด-19 ซึ่งมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย อีกทั้งสัตว์เลี้ยงนําเข้าจากประเทศกลุ่มเสี่ยงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยจะประสานงานเพื่อกำหนดแนวทางมาตรการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายด้านสัตวแพทย์ สัตวแพทยสภา สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จากนั้นต้องมีแนวทางสื่อสารข้อมูลความเสี่ยงและองค์ความรู้ที่ถูกต้องให้แก่สัตวแพทย์และประชาชนทั่วไป เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดและตระหนกตกใจในสังคม
สำหรับกรณีสื่อรายงานตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในสุนัข 2 ตัว ซึ่งเป็นกรณีที่ 2 ของผู้ป่วยโควิด-19 ในฮ่องกง โดยผู้ป่วยรายนี้เลี้ยงสุนัขสายพันธ์เยอรมันเชฟเฟิร์ด อายุ 2 ปี 1 ตัว และสุนัขพันธ์ผสมอายุ 4 ปี 1 ตัว เจ้าหน้าที่กรมประมงและอนุรักษ์ของฮ่องกง (AFCD) นำสุนัขทั้ง 2 ตัวแยกกัน เพื่อไปกักดูอาการ และเก็บตัวอย่างสิ่งคัดหลังทางจมูกและปาก วันที่ 18 มีนาคม 2563 และวันที่ 19 มีนาคม 2563 พบผลบวกการติดเชื้อในสุนัขพันธ์เยอรมันเชฟเฟิร์ดเท่านั้น จากนี้จะติดตามอาการและเก็บตัวอย่างเพิ่มเติมจากสุนัขทั้ง 2 ตัวต่อไป
อธิบดีกรมปศุสัตว์ ย้ำว่าขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากยังไม่มีรายงานหรือหลักฐานชัดเจนถึงการติดเชื้อของคนจากสัตว์เลี้ยงหรือแพร่ให้สัตว์อื่นได้ ทั้งนี้ สุนัขที่ติดเชื้อต้องมีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคดังกล่าว 10 วันหลังวันเริ่มติดเชื้อ ดังนั้น สุนัขสายพันธ์ปอมเมอเรเนียนที่ตรวจพบการติดเชื้อโควิด-19 รายแรกให้ผลลบต่อการตรวจการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ ซึ่งแสดงว่าสัตว์อาจไม่ได้ติดเชื้อหรือติดเชื้อในระดับต่ำจนไม่มีสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรค
“ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งทั้งก่อนและหลังสัมผัสสัตว์เลี้ยง ถ้ามีอาการป่วยควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดโดยตรงกับสัตว์เลี้ยง ควรให้บุคคลอื่นที่มีสุขภาพดีเป็นผู้ดูแลสัตว์แทน โดยสามารถติดต่อปรึกษาหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ และ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทุกแห่ง หรือ โทร. สายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-255-6888 และ application DLD 4.0” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย