กรุงเทพฯ 17 มี.ค. – ฝีมือคนไทย สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) วิจัยพัฒนาชุดตรวจ COVID-19 ทดสอบร่วมกับ รพ.ศิริราช รู้ผลในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง ค่าตรวจเพียง 500 บาท โรงงานต้นแบบ Vistec พร้อมผลิตนับแสนชุด/เดือน
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท.ร่วมกับสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัย COVID-19 โดยความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีจากสถาบัน Broad Institute, Massachusetts Institute of Technology and Harvard, USA และความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี ในการวิจัยเพื่อพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) โดยการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจากกลุ่ม ปตท. และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) สามารถตรวจโรคได้ภายใน 30 – 45 นาที ซึ่งรวดเร็วกว่าวิธีการตรวจปัจจุบันที่ใช้เวลา 4 – 6 ชั่วโมงในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ค่าตรวจของชุดตรวจใหม่นี้จะอยู่ที่ประมาณ 500 บาทเท่านั้น จากค่าตรวจปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3,000-13,000บาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบโดยคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
นายชาญศิลป์ เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท.สนับสนุนวงเงินวิจัยโครงการนี้ประมาณ 3 ล้านบาท โดย VISTEC มีโรงงานต้นแบบ (pilot plant) สามารถผลิตได้ 4,000 ชุด/วัน หรือประมาณกว่า 100,000 ชุด/เดือน ซึ่งขณะนี้ ปตท.ได้สั่งสารเคมีจากต่างประเทศเข้ามาใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ในการนำเข้ามาเพื่อพร้อมผลิตรองรับการตรวจติดเชื้อในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม จากเครื่องมือที่มีอยู่และสารเคมีที่มีขณะนี้สามารถผลิตได้ทันที 10,000 ชุด
ทั้งนี้ หากความต้องการมีปริมาณสูงมาก หลังผ่านการทดสอบจากศิริราชแล้วเข้าสู่ Production Phase ทาง ปตท.จะหารือกับองค์การเภสัชกรรม เพื่อผลิตต่อไป เพราะองค์การเภสัชฯ และเครือข่ายเอกชนมีความพร้อมในการผลิตในปริมาณสูง
” สถาบันฯ ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ภาควิชาจุลชีววิทยา เริ่มทดลองกับตัวอย่างจากคลินิกแล้ว และอยู่ระหว่างการเตรียมแผนผลิตชุดทดสอบเพิ่มเติม เพื่อดำเนินการในขั้นตอน Clinical Trial ในเดือนเมษายนนี้” นายชาญศิลป์ กล่าว
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า จากผลทดสอบชุดตรวจดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ต้องทดสอบกับจำนวนคนป่วยมากขึ้น หากทดสอบ 100-200 ตัวอย่างแล้ว พบว่า ผลทดสอบออกมาคลาดเคลื่อนน้อยมากก็จะแจ้งให้ กลุ่ม ปตท.รับทราบ เพื่อผลิตนำมาใช้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ต่อไป โดยผลดีก็คือ เครื่องนี้สามารถกระจายไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆสามารถตรวจได้รวดเร็ว
“เครื่องมือตรวจสอบทั่วไปขณะนี้เป็นการดูพันธุกรรมไวรัสที่ต้องใช้เวลานานและเครื่องมือไม่สามารถไปตั้งตรวจตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ต้องอาศัยนักเทคนิครู้จักการรันเครื่องมือ ทำให้การตรวจสอบมีข้อจำกัด เครื่องตรวจมีเฉพาะคณะแพทย์ฯ กรมวิทยาศาตร์การแพทย์ ต้องมีนักทดสอบ เครื่องที่ Vistec พัฒนา เป็นเครื่องเล็กที่ไปใช้ได้ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ผลทดสอบแม่นยำระดับหนึ่ง ขั้นตอนจากนี้จะพิสูจน์ว่ากับผู้ติดเชื้อทุกราย หากไม่พบความผิดพลาดอะไร ก็จะแจ้งกลุ่ม ปตท. เพื่อสู่ Production phase ผลิตมาทำเทสต์คิดแจกจ่ายรองรับปริมาณผู้ติดเชื้อที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายกสภาสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) กล่าวว่า เครื่องทดสอบนี้เป็นการทดสอบระดับพันธุวิศวกรรมที่ ผศ.ดร. ชยสิทธิ์ อุตมาภินันท์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (Biomolecular Science and Engineering : BSE) VISTEC พัฒนา โดยชุดตรวจสอบจะง่าย ๆ ด้วยการนำสารคัดหลั่งจากจมูก แล้วจุ่มทดสอบในเครื่องทดสอบที่มีสารเคมีพันธุวิศวกรรรม ซึ่งจะต้องนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าชุดตรวจโรคดังกล่าวจะเพิ่มความรวดเร็วในการวินิจฉัยเชื้อไวรัสนี้ของหน่วยงานสาธารณสุขและโรงพยาบาลในประเทศไทยได้อย่างทันท่วงที และทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 คลี่คลายลงในเร็ววัน.-สำนักข่าวไทย