กรุงเทพฯ 17 มี.ค.- กระทรวงพาณิชย์ เผยขณะนี้ 11 โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยสามารถผลิตได้วันละ 1.8 ล้านชิ้น พร้อมเอาผิดแพลตฟอร์ที่ให้มีการขายเกินราคา
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงภาพรวมการผลิตหน้ากากอนามัยว่า วันนี้(17 มี.ค.) โรงงานผลิตหน้ากากในประเทศ มีการแจ้งมายังศูนย์กระจายหน้ากากอนามัย ว่า มีกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยในภาพรวม 1.8 ล้านชิ้นต่อวัน และได้มีการจัดสรรจำนวนเฉพาะตัวเลขให้กับกระทรวงสาธารณสุขนำไปบริหารการกระจายจำนวน 1 ล้านชิ้น เพื่อกระจายไปยังสถานพยาบาลต่าง ๆ รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ทั้งสถานพยาบาลรัฐเอกชนและทุกสังกัด ส่วนกรมการค้าภายในบริหารจัดการหน้ากากอนามัยส่งไปยังร้านค้าต่างๆ รวมถึงร้านขายยาจำนวนรวม 800,000 ชิ้น
ส่วนการจับกุมดำเนินคดีกรณีการทำความผิดเกี่ยวกับหน้ากากอนามัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยสินค้าและบริการ ในวันนี้ สามารถจับกุมได้ 2 กรณี รายแรก มีการขายหน้ากากอนามัยทางออนไลน์ โดยจะมีการดำเนินคดีร้านชื่อว่า “ช้าง” ซึ่งมีการขายหน้ากากอนามัยผิดกฎหมายบนแพลตฟอร์ม ช้อปปี้ ซึ่งนำหน้ากากยี่ห้อ welcare ขายในราคากล่องละ 1,050 บาท กล่องละ 50 ชิ้น ราคาชิ้นละ 21 บาท รวมค่าจัดส่งอีก 80 บาท รวมราคาสุทธิ 1,130 บาท สำหรับข้อหาคือขายเกินราคาที่กรมการค้าภายในกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนข้อหาค้ากำไรเกินควรจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ โดยทางกรมการค้าภายในจะได้แจ้งความดำเนินคดีต่อ ทางกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป โดยแจ้งความดำเนินคดีทั้งร้าน “ช้าง” และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด
นายจุรินทร์กล่าวว่าการค้าออนไลน์หน้ากากอนามัยนั้น ภายหลังจากที่ทางกรมการค้าภายในได้แจ้งความดำเนินคดีกับแพลตฟอร์ม ลาซาด้า ใน 3 กรณีไปแล้ว ทำให้การสืบค้นหาหน้ากากอนามัยในแพลตฟอร์มดังกล่าวดูเหมือนจะหายไป อย่างไรก็ตามหากประชาชน ยังพบว่ามีการทำในลักษณะขายเกินราคาหรือค้ากำไรเกินควรขอให้แจ้งสายด่วน 1569 เพิ่มหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ตรวจสอบและดำเนินคดีผู้กระทำผิดต่อไป
นายจุรินทร์ยังเตือนไปยถึงแฟลตฟอร์มการค้าออนไลน์ต่างๆว่า หากยังปล่อยให้มีการขายหน้ากากอนามัยซึ่งเป็นสินค้าควบคุมเกินราคาที่กำหนด ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หรือมีการขายหน้ากากอนามัยตามราคาที่กำหนดแต่คิดค่าบริการแฝง 300-500บาท การดำเนินการลักษณะอย่างนี้ก็ถือว่าเข้าข่ายกระทำผิดเช่นกัน อย่างไรก็ตามการขายหน้ากากผ้า ทางรัฐบาลไม่ได้ควบคุมเพราะต้องการส่งเสริมการใช้ จะได้ไม่ต้องใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ที่ต้องการให้บุคลากรทางการแพทย์ได้มีโอกาสใช้รวมถึงกลุ่มเสี่ยงอื่นเช่นผู้ป่วยเป็นต้น สามารถจำหน่ายออนไลน์ได้โดยไม่มีการควบคุม
กรณีที่สอง เป็นผลงานการออกไปตรวจสอบโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยของกรมการค้าภายใน ที่สะแกงาม ชื่อบริษัท เนชันแนลคอตตอนโปรดักท์ จำกัด ผลิตหน้ากากอนามัยยี่ห้อ Health Mask พบว่ามีการขายหน้ากากอนามัยให้กับบริษัทสเปเชียลตี้ เท็คคอร์ปอเรชั่น ซึ่งจากการตรวจพบว่าโรงงานแห่งนี้ผลิตหน้ากากเข้ากรณีหน้ากากทางเลือกไม่มีเครื่องหมาย “อย.” ซึ่งจากการตรวจพบว่า มมีการทำผิดตาม ข้อหาการกระทำผิด จากการที่โรงงานไม่ได้แจ้งข้อมูลการผลิตต้นทุน สตอกหน้ากากอนามัยให้กับเลขานุการคณะกรรมการ กกร.ทราบ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้หากตรวจสอบต้นทุนการผลิตแล้ว พบว่ามีการขายเกินราคาที่กำหนดหรือมีการค้ากำไรเกินควร ก็จะแจ้งข้อหาเพิ่มอีก 2 ข้อหาด้วย เพราะกรณีหน้ากากทางเลือกมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า การขาย จากโรงงานไปยังผู้ค้าส่งจะบวกราคาได้ไม่เกินร้อยละ 10 จากต้นทุน ซึ่งราคาขายที่ตรวจพบขายที่ชิ้นละ 3 บาท ทางกรมการค้าภายในจะมีการตรวจสอบต้นทุนการผลิตต่อไป
นายจุรินทร์กล่าวถึงผลการจับกุมดำเนินคดีการขายหน้ากากอนามัยเกินราคาควบคุมในช่วงที่ผ่านมาว่า ข้อมูลการดำเนินคดีจนถึงวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมามีการดำเนินคดีแล้ว จำนวน 159 ราย โดยวันที่ 16 มีนาคมวันเดียวดำเนินคดีไปทั้งสิ้น 10 ราย แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 2 ราย คือ กรณีขายส่งที่ห้าง center one และกรณีขายส่งที่บานขุนเทียน ส่วนที่เหลือเป็นกรณีในต่างจังหวัด มีการดำเนินคดีที่จังหวัดหนองบัวลำภู สิงห์บุรี ปทุมธานี ส่วนใหญ่เป็นข้อหาขายหน้ากากอนามัยเกินราคาควบคุมหรือค้ากำไรเกินควรเป็นหลักเป็นต้น.-สำนักข่าวไทย