สธ.17 มี.ค.-สธ.เผยยอดป่วยโควิด-19 เพิ่มอีก 30 คน ทำให้ยอดรวมพุ่ง 177คน ย้ำเตรียม รพ.-เตียงรองรับผู้ป่วยพอ หากเกิดระบาดหนักเมษายน ส่วนผู้ป่วยนอน รพ.เอกชน ไม่ต้องสำรองจ่ายรัฐดูแล ติดขัดโทร 1669 กรณีพบคนไข้แกล้งไอใส่แพทย์พยาบาล ย้ำมีความผิด เพราะโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย จ่อเอาผิดทางอาญา ขอให้เห็นใจบุคลากรด้วย
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ปลัด สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์การติดเชื้อโรคโควิด -19 ว่า พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มอีก 30 คน ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 สะสมรวม 177 คน โดยจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่พบเป็นกลุ่มเฝ้าระวังเดิมที่อยู่ในผู้ป่วยติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน ที่สนามมวย ทั้งราชดำเนิน ลุมพินี อ้อมน้อย 11 คน และมีรายงานผู้ป่วยมาจากสถานบันเทิงอีก 1 คน กลับจากต่างประเทศอีก 9 คน ทำงานใกล้ชิดสัมผัสต่างชาติอีก 1คน (คนขับรถแท๊กซี่) และกลุ่มที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยเดิมอีก 2 คน ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มผู้ที่เดินทางมาจากอิตาลีอีก 6 คน
นพ.สุขุม กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกันพบปัญหาภาวะความเครียดจากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้มีประชาชนบางส่วนต้องการตรวจโควิด หรือ ไม่พอใจ แสดงอาการไอใส่เจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ เรื่องนี้ถือเป็นความผิดทางอาญา เพราะโรคนี้ถือเป็นโรคระบาดอันตราย การกระทำเท่ากับข่มขู่ คุกคามแพทย์ พยาบาล มีความผิดตามกฎหมายอาญา หากแพทย์คนใดเจอเหตุการณ์เช่นนี้จะดำเนินคดีกับคนกระทำการดังกล่าวให้ถึงที่สุดเพราะขณะนี้ แพทย์พยาบาล ทำงานกันอย่างเต็มที่
พร้อมกล่าวต่อไปว่า สถานพยาบาลเอกชนที่รับตรวจแล็บโควิด ต่อไปต้องรับรักษาด้วยให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและทางกระทรวงสาธารณสุขจะเข้าไปช่วยเหลือจัดจ่ายส่วนต่างให้เหมาะสม ยืนยันคนป่วยโควิด-19 หากเข้ารักษา รพ.เอกชนไม่ต้องจ่ายเงินสำรองก่อน หากติดขัดแจ้งสายด่วน 1669
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้การพบผู้ป่วยเพิ่มส่วนใหญ่เป็นคนที่อาศัยอยู่ใน กทม.ร้อยละ80-90 การวางระบบและการจัดหาเตียงขณะนี้ ยืนยันว่ามีเพียงพอ จากการหารือร่วมกับโรงพยาบาลในสังกัด กทม.มหาวิทยาลัย เหล่าทัพ ได้มีการตรวจจัดทำวอร์ดรักษาเฉพาะผู้ป่วยโรคโควิด -19 ในทุกโรงพยาบาล ขณะนี้มีเตียงสำรองเบื้องต้น 234 เตียง และคาดว่าในสัปดาห์หน้า จะได้จัดสรรให้ชะลอผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงไปรับยาที่ร้านขายยา เพื่อลดความแออัด เพิ่มเตียง และลดความแออัดในสถานพยาบาล ทำให้จะสามารถมีเตียงเพิ่มได้มากถึง 400 เตียง โดยในส่วนความร่วมมือของโรงพยาบาลที่ร่วมได้แก่ รพ.บางขุนเทียน รพ.ทุ่งสองห้อง รพ.รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ รพ.ศูนย์การแพทย์กาญจนภิเษก ศาลายา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแผนนำโรงพยาบาลจิตเวช อาทิ ศรีธัญญาและสถาบันจิตเวช สมเด็จเจ้าพระยา ฯร่วมด้วย
นพ.สมศักดิ์ ยอมรับหนักใจเรื่องการจัดหาเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ไว้รองรับ เพราะส่วนใหญ่ประชาชนยังไม่เข้าใจ เกิดแรงต้าน ในส่วนของ รพ.บางบัวทอง ที่มีประชาชนออกมาต้านอยากให้ไปใช้โรงพยาบาลอื่นแทน ขณะเดียวกันได้วางแนวทางการสำรองและจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ในการรักษาอาการของโควิด -19 ในส่วนของ กทม.ให้ รพ.ราชวิถี เป็นคนกระจายยา ส่วนในภูมิภาคต่างจังหวัดได้มอบให้ทางโรงพยาบาลศูนย์และพื้นที่เป็นผู้กระจายให้กับโรงพยาบาลอื่นๆ รวมถึงเอกชน
นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า คาดว่าในอนาคตราวเดือนเมษายนอาจมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น การรักษาดูแล นอกจากการจัดตั้งวอร์ดเฉพาะ โควิด-19 แล้ว ยังรวมไปถึงการปรับเกณฑ์การดูแลผู้ป่วยในระยะเวลา หากมีอาการป่วยรุนแรงและในสถานการณ์เตียงไม่พอ จะใช้เกณฑ์การรักษาภายใน 48 ชั่วโมงให้นอนรักษา รพ.ก่อน เพราะอยู่ในช่วงการป่วยปอดอักเสบ ขณะเดียวกันเพื่อได้มีการจัดเตรียมทีมแพทย์หมุนเวียน พร้อมอุปกรณ์ป้องกันไปดูแล
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 พบในชายและหญิงเท่าๆกัน การคาดการณ์ การระบาดของเดือนเมษายน เพราะเกี่ยวข้องกับการเดินทาง หากประชาชนให้ความร่วมมือไม่เดินทางไปสถานที่แออัด พื้นที่เสี่ยง ป่วยหยุด การระบาดก็ไม่เพิ่ม .-สำนักข่าวไทย