กรุงเทพฯ 14 มี.ค.- ส.อ.ท.มอบหน้ากากผ้า 1 แสนชิ้น ให้ 10 โรงพยาบาลรัฐ พร้อมมอบแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ 300,000 ลิตรให้โรงพยาบาลที่จำเป็น
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภายในเดือนนี้ ได้เตรียมหน้ากากผ้า 100,000 ชิ้น มอบให้โรงพยาบาลรัฐ 10 แห่ง รองรับการรักษากลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 โดยหน้ากากผ้าคุณภาพเพียงพอ ลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ผ่านการทดสอบจากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) มีคุณสมบัติป้องกันละอองสารคัดหลั่งจากการไอหรือจามของผู้สวมใส่ที่มีขนาด 50-5 ไมครอน สามารถซักและนำกลับมาใช้ซ้ำได้ เพื่อช่วยลดขยะได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ยังเตรียมผลิตหน้ากากผ้าราคาพิเศษให้กับผู้ประกอบการสมาชิกให้พนักงานได้ใช้
กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานผลิตเอทานอลทั่วประเทศ 26 โรงงาน สมาชิก ส.อ.ท.ร่วมมือกับกรมสรรพสามิตผลิตแอลกอฮอล์เพื่อใช้ฆ่าเชื้อทำความสะอาดบริจาค 300,000 ลิตร มูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท มอบให้โรงพยาบาลที่มีความจำเป็น โดยโรงพยาบาลที่ต้องการสามารถติดต่อที่สรรพสามิตทุกจังหวัดทั่วประเทศ
พลอากาศตรีไกรเลิศ เธียรนุกุล ผู้แทนโรงพยาบาลภูมิพล กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลจึงแบ่งโซนสีแดง โซนสีส้ม และโซนเขียว โดยโซนสีแดง ใช้หน้ากากผ้าไม่ได้ เพราะแพทย์จะต้องดูแลผู้ป่วย การได้รับหน้ากากผ้าทำให้โรงพยาบาลสามารถนำหน้ากากผ้าไปจัดสรรให้บุคลากรในโรงพยาบาลสามารถนำไปใช้ได้ เพราะทำงานในส่วนสำนักงานของโรงพยาบาล
กรณีการฟ้องร้องเรื่องตัวเลขส่งออกหน้ากากอนามัยจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเจรจายุติปัญหาใด ๆ ทั้งสิ้น นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า หลังจากยื่นฟ้องเพื่อให้ดำเนินคดีกับโฆษกกรมศุลกากรกรณีแถลงข่าวตัวเลขส่งออกหน้ากากอนามัย 330 ตัน ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. เมื่อวานนี้แล้วนั้น ขณะนี้ไม่มีการติดต่อจากโฆษกกรมศุลกากร และไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้แล้ว เพราะเข้าสู่ขั้นตอนของเจ้าหน้าที่สอบสวนจะไปดำเนินการต่อและได้ทำหน้าที่รักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของกรมการค้าภายในในฐานะที่เป็นลูกหม้อรับราชการอยู่ที่กรมฯ นี้มาตลอดชีวิต โดยส่วนตัวไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของหน่วยงานใดให้เกิดความเสียหาย และโดยส่วนตัวไม่ได้รู้จักกับโฆษกกรมศุลกากรมาก่อน หากเจ้าพนักงานชี้ว่ามีมูลและสั่งฟ้องก็ต้องเคารพในการพิจารณาของเจ้าพนักงาน แต่ถ้าไม่มีมูลก็ไม่สั่งฟ้องถือว่าเป็นไปตามกฎหมาย
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เรื่องดังกล่าว ขอให้ทำความเข้าใจร่วมกันให้ถูกต้อง เพราะเป็นหน่วยงานรัฐเหมือนกัน “หากผิดพลาดต้องขออภัย” แต่ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันสู้กับปัญหาโควิด เพราะความจริงอาจเป็นการสื่อความเรื่องพิกัดอัตราภาษีหลายประเทศในกลุ่มที่ส่งออกด้วยกัน ทำให้ดูเหมือนจำนวนส่งออกหน้ากากอนามัยมียอดสูง และกรมศุลกากรได้ชี้แจงเพิ่มเติมไปแล้ว คาดว่าปัญหาดังกล่าวจะยุติลงได้
การจัดสรรหน้ากากอนามัยโดย “ศูนย์กระจายหน้ากากอนามัย” เกิดขึ้นหลังหน้ากากอนามัยขาดแคลนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จนรัฐบาลต้องประกาศให้หน้ากากอนามัย กลายเป็นสินค้าควบคุม เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ให้โรงงานผลิตทั้ง 11 แห่ง ต้องผลิตหน้ากากส่งมาที่ศูนย์แห่งนี้ กำลังการผลิตเดือนละ 36 ล้านชิ้น หรือวันละ 1.2 ล้านชิ้น ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก 7 แสนชิ้นให้กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบจัดสรรหน้ากากให้กับโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โรงพยาบาลในมหาวิทยาลัย องค์การเภสัชกรรม และองค์การอาหารและยา อีก 5 แสนชิ้นให้กรมการค้าภายใน กระจายสินค้าให้ประชาชนผ่านทางร้านค้าสะดวกซื้อ-ร้านธงฟ้าประชารัฐ และรถโมบายมากกว่า 100 คัน แต่ล่าสุด เพิ่งยกเลิกรถโมบายไปเมื่อ 11 มีนาคมที่ผ่านมา
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ให้เหตุผลที่ยกเลิกรถโมบายว่าไม่ตอบโจทย์ ขณะที่ร้านธงฟ้าต่างๆ ก็มีสินค้าไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่วนที่ประชาชนร้องเรียนว่าไม่พบสินค้าตามร้านสะดวกซื้อ เลยขอชี้แจงว่าร้านสะดวกซื้อและโมเดิร์นเทรดที่ได้รับจัดสรรหน้ากากอนามัยจะทำแผนกระจายสินค้าเองว่าจะวางจำหน่ายสาขาใดบ้าง
สำหรับประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. ให้ขายหน้ากากอนามัยแบบสีเขียวที่ผลิตในประเทศไม่เกินชิ้นละ 2.50 บาท เมื่อ 5 มีนาคม มีการจับกุมผู้กระผิดทุกวัน ข้อหาที่มีการจับกุมสูงสุดคือ ขายเกินราคาควบคุม รองลงมาคือ ไม่ติดป้ายแสดงราคา และขายแพงเกินจริง แต่ก็ยังมีคนใช้วิธีตั้งราคาขายไม่เกิน 2.50 บาท แล้วคิดค่าส่งแพงเกินจริงไปถึงเกือบ 1,000 บาท ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ มาตรา 29 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.-สำนักข่าวไทย