กรุงเทพฯ 14 มี.ค.-ซูเปอร์โพล สำรวจความเห็น “ทำไมคนไม่รับสิ่งที่นายกฯ พูด” พบประชาชนร้อยละ 79.9 ระบุขาดข้อมูลที่ดี ไม่ตอบโจทย์ประชาชน ร้อยละ 60.5 ระบุทีมงานข้อมูล ทีมงานโฆษกรัฐบาลส่งผลภาพลักษณ์ของนายกรัฐมนตรีค่อนข้างมากถึงมากที่สุด โดยร้อยละ 76.8 ระบุควรเปลี่ยนทีมงานข้อมูล ทีมงานโฆษกรัฐบาล
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) สำรวจภาคสนาม เรื่อง “ทำไมคนไม่รับสิ่งที่นายกฯ พูด” กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,306 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 9-13 มีนาคม 2563
เมื่อสอบถามถึงสาเหตุว่า ทำไมคนไม่รับสิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูด พบว่า ประชาชนใหญ่หรือร้อยละ 79.9 ระบุ ขาดข้อมูลที่ดี ไม่ตอบโจทย์ประชาชน รองลงมา คือ ร้อยละ 50.6 ระบุ ไม่ถามประชาชนก่อน ร้อยละ 34.7 ระบุ ทีมงานข้อมูล ทีมโฆษกรัฐบาลขัดแย้งกันภายใน และร้อยละ 5.2 อื่น ๆ เช่น พูดเยอะหลายเรื่องสับสน ฟังไม่ชัด พูดเร็วรัวไป และเป็นเพราะสื่อมวลชน เป็นต้น
ที่น่าเป็นห่วง คือ ผลกระทบจากทีมงานข้อมูล ทีมโฆษกรัฐบาลต่อภาพลักษณ์ของนายกรัฐมนตรี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.5 ระบุ กระทบภาพลักษณ์ของนายกรัฐมนตรีค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 39.5 ระบุกระทบค่อนข้างน้อย ถึงไม่กระทบเลย ส่วนความเห็นต่อการเปลี่ยนทีมงานข้อมูล ทีมโฆษกรัฐบาล พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.8 ระบุควรเปลี่ยน ขณะที่ร้อยละ 23.2 ระบุควรทำงานต่อไป อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงความรู้สึกและความเห็นต่อนายกรัฐมนตรี พบว่า ร้อยละ 31.8 สงสารนายกรัฐมนตรี เห็นว่าเหนื่อยแต่ควรทำงานต่อไป ขณะที่ร้อยละ 55.3 เห็นว่าควรปรับคณะรัฐมนตรี และร้อยละ 12.9 ระบุอื่น ๆ
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล กล่าวด้วยว่า จากการเกาะติดกับความเห็นของประชาชนมาตลอด พบว่าประชาชนส่วนใหญ่สับสนกับข้อมูลที่ซ้ำเติมความตื่นตระหนกในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ดังนั้นเพื่อดึงความเชื่อมั่นและวางใจต่อนายกรัฐมนตรี รัฐบาลควรลดบทบาทของทีมงานโฆษกรัฐบาลลงในช่วงวิกฤตินี้ เพราะ ทีมงานโฆษกรัฐบาลไม่ใช่กลุ่มคนที่ประชาชนเชื่อถือ แต่ควรนำคณะบุคคลที่น่าเชื่อถือของประชาชนออกมาพูดในแต่ละเรื่องที่เชี่ยวชาญ พูดแล้วประชาชนวางใจ ทั้งเรื่องโควิด-19 ปัญหาภัยแล้ง และปัญหาปากท้องของประชาชน ทำเฉพาะเรื่องๆ.-สำนักข่าวไทย