กรุงเทพฯ 11 มี.ค. – อธิบดีกรมชลประทานสั่งโครงการชลประทานทั่วประเทศจ้างเกษตรกรเป็นแรงงานซ่อมบำรุงและขุดลอกแหล่งน้ำตามนโยบายรัฐบาล ด้านสำนักชลประทานที่ 6 เปิดโครงการจ้างงาน 5 จังหวัดภาคอีสานตอนกลาง งบกว่า 200 ล้านบาท
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สำนักงานโครงการชลประทานทุกจังหวัดเปิดให้เกษตรกรมารับจ้างช่วยเจ้าหน้าที่บำรุงรักษาคลองส่งน้ำและซ่อมแซมอาคารชลประทาน ตามที่ ครม. เห็นชอบแผนงานและอนุมัติงบประมาณให้เร่งช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบภัยแล้งปี 2562/2563 ไม่สามารถปลูกข้าวนาปรังได้และบางพื้นที่แล้งจัดถึงขั้นเพาะปลูกพืชใด ๆ ไม่ได้เลย จึงจัดทำโครงการช่วยเหลือให้เกษตรกรมีรายได้เลี้ยงครอบครัว นอกจากนี้ ภาคเกษตรยังได้รับผลกระทบต่อการระบาดของโรค COVID–19 เนื่องจากยอดการส่งออกสินค้าเกษตรลดลง อีกทั้งการท่องเที่ยวซบเซาทำให้การบริโภคลดลง ดังนั้นจึงเร่งดำเนินการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่กำชับทุกหน่วยงานถึงการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 โดยให้ทบทวนแผนงานและปรับให้สอดรับกับเป้าหมาย 3 ประการคือ ลดผลกระทบจากภัยแล้ง โรค COVID–19 และเศรษฐกิจของประเทศ โดยหากแผนงานใดพร้อมให้ดำเนินการทันที
ล่าสุดนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำชับหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ให้ปฏิบัติตามมติ ครม. ล่าสุดเห็นชอบให้ทุกส่วนราชการพิจารณาปรับลดงบประมาณ ปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินงานให้ได้ 10% ของงบประมาณรายจ่ายประจำ สำหรับปีนี้กำหนดรายจ่ายประจำไว้ที่ 2.39 ล้านล้านบาท ทำให้มีวงเงินสำหรับการรับสถานการณ์ภัยแล้งและโรค COVID–19 ประมาณ 200,000 ล้านบาท โดยกำหนดให้ดำเนินโครงการที่ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานระยะสั้น การจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ประกอบการและผู้ผลิตรายย่อย
สำหรับโครงการว่าจ้างแรงงานเกษตรกรใน 76 จังหวัด มีเป้าหมาย 41,000 คน งบประมาณ 3,100 ล้านบาท ซึ่งหากปรับลดงบประมาณรายจ่ายลงตามมติครม. คาดว่า จะเพิ่มการจ้างแรงงานได้มากกว่าแผนที่กำหนดไว้
นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวว่า ได้เปิดโครงการจ้างแรงงานในปีงบประมาณ 2563 สำหรับงานซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน ก่อสร้างแหล่งน้ำระบบส่งน้ำเพื่อชุมชน แก้มลิง การจัดการคุณภาพน้ำและโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำใน 5 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางได้แก่จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ในวงเงินงบประมาณ 200 ล้านบาทเศษ สามารถจ้างแรงงานได้ไม่น้อยกว่า 4,770 คน ระยะเวลาในการจ้าง 5-7 เดือน ซึ่งเกษตรกรจะได้ค่าจ้างแรงงานวันละ 377.85 บาท หรือประมาณเดือนละ 8,000 บาท รายได้ตลอดระยะเวลาการจ้างแรงงานอยู่ระหว่าง 24,000-60,000 บาท/คน ขึ้นอยู่กับลักษณะของงานที่ทำ เช่นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเสียวใหญ่เริ่มจ้างแรงงานในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามและร้อยเอ็ดตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2563 แล้ว 216 คนและยังคงเปิดรับสมัครจ้างแรงงานเกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ อีกอย่างต่อเนื่อง โดยผู้สมัครต้องเป็นเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้น้อย หรือขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้แล้วในพื้นที่ รวมถึงแรงงานทั่วไปและประชาชน หากท่านใดสนใจ สามารถสอบถามไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ได้แล้ว.-สำนักข่าวไทย