กรุงเทพฯ 11 มี.ค. – “สมคิด” ประชุมบอร์ดยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ตั้งเป้าดันไทยเป็นฮับผลิตอีวีภายใน 5 ปี
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เรียกประชุมกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี รวมถึงจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ภายใน 5 ปีนับจากนี้ไป โดยกำหนดยุทธศาสตร์ประเทศเน้นให้ความสำคัญสิ่งแวดล้อมและแก้ไขปัญหามลพิษในอากาศ และเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบผลิตรถยนต์ในประเทศที่ขณะนี้เดินหน้าผลิตรถยนต์อยู่แล้วด้วย ส่วนเป้าหมายการผลิตและเป้าหมายการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศกระทรวงอุตสาหกรรมจะกำหนดเป้าหมายรายละเอียดต่อไป
ด้านมาตรการจูงใจให้เกิดการลงทุน นายสมคิด สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ เพิ่มสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้นจากปัจจุบันได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว 8-10 ปี เพื่อเร่งการลงทุนชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี่ รวมถึงส่งเสริมการนำเข้าแบตเตอรี่ราคาต่ำจากต่างประเทศด้วยเพราะเชื่อว่าเมื่อไทยจะสามารถส่งออกได้ด้วย และด้านมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ รวมถึงองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ปัจจุบันติดปัญหาราคารถยนต์ไฟฟ้าสูงกว่าราคากลางที่กรมบัญชีกลางตั้งไว้ จะต้องหารือกระทรวงการคลังและกรมบัญชีกลาง เพื่อแก้ไขและนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบต่อไป
ส่วนสถานีชาร์จไฟรถไฟฟ้าให้กระทรวงพลังงานประสาน บมจ.ปตท.และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมมือกันดำเนินการไม่แข่งขันกัน โดยการลงทุนบีโอไอ ต้องดูแลผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่จำเป็น รวมถึงมาตรการดูแลการนำเข้า
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ต้องมีความชัดเจนนโยบายส่งเสริมทั้งด้านการผลิตและความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ด้านการผลิตนั้น ปัจจุบันมีการผลิตรถยนต์ประเภทปลั๊กอินไฮบริดและรถไฟฟ้า การขับเคลื่อนนโยบายจะกระทบอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องมีมาตรการดูแลที่เหมาะสม
ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจะต้องมีแรงจูงด้านกำลังซื้อในประเทศผ่านมาตรการภาษีสรรพสามิตเพื่อให้เกิดกำลังซื้อ รวมถึงมีมาตรการสนับสนุนให้มีการซื้อยานยนต์ไฟฟ้าเป็นรถประจำตำแหน่ง นอกจากนี้ จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น สถานีชาร์จไฟ ควรมีระยะห่างระหว่างสถานีประมาณ 200 กิโลเมตรและมีปริมาณเพียงพอ โดยจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงานต่อไป ด้านการผลิต จะส่งเสริมให้มีชิ้นส่วนสำคัญผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้น เช่น แบตเตอรี่จะต้องส่งเสริมให้มีการนำเข้าแบตเตอรี่ราคาถูกและส่งเสริมให้มีการลงทุนภายในประเทศผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
“การส่งเสริมใช้ยานยนต์ในไทยเพิ่มขึ้น ควรเริ่มจากกลุ่มรถโดยสาธารณะและรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ตลอดจนกลุ่มผู้มีฐานะที่จะซื้อยานยนต์ไฟฟ้าได้” นายสนธิรัตน์ กล่าว
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ต้องการให้ภาครัฐกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่การเป็นฮับยานยนต์ไฟฟ้าอย่างชัดเจน ไม่ใช่ผลิตลักษณะ XEV หรือยานยนต์ไฟฟ้าอะไรก็ได้ หรือทำให้มีการผลิตรถไฮบริดเกิดขึ้น เรื่องนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมต้องปรับนโยบายส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฮบริดได้แล้ว หากไม่ยกเลิกนโยบายลักษณะ XEV อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะไม่สามารถก้าวไปสู่การเป็นฮับของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าได้อย่างแท้จริง
ด้านมาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า เช่น การตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ จำเป็นต้องพิจารณาให้การส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอที่มากกว่า 8 ปี และต้องมีแนวทางกำจัดแบตเตอรี่หมดอายุใช้งาน เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมย ขณะเดียวกันจะต้องส่งเสริมผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเน้นการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศด้วย เพื่อให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องในไทยอยู่ได้ .-สำนักข่าวไทย