ทำเนียบ 10 มี.ค.-ศูนย์โควิด-19 ทำเนียบรัฐบาลแถลง ยัน 1-2 วันนี้ ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนจะคลี่คลาย มีใช้เพียงพอสำหรับโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมย้ำมาตรการป้องกันควบคุมโรค การช่วยเหลือลูกจ้าง-ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ
ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 ที่มีนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์แถลงข่าวประจำวัน โดยนายไพศาล จารุรักษา ผู้จัดการโรงงาน Thai Hospital Products ตัวแทนโรงงานผู้ผลิตหน้ากากอนามัยกล่าวว่า ปัจจุบันมีการเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องโดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 400,000 ชิ้นต่อวัน และจัดส่งให้กรมการค้าภายใน- องค์การเภสัชกรรม 350,000 ชิ้นต่อวัน จากการผลิต หน้ากากอนามัย 10.5 ล้านชิ้นต่อเดือน ยืนยันว่าไม่มีการกระจายหน้ากากอนามัยไปยังภาคเอกชนที่มาซื้อหน้าโรงงาน เพราะมีเจ้าหน้าที่จากกรมการค้าภายในไปควบคุมการส่งออก รวมถึงมีการติดตามสินค้าเพื่อให้ได้คุณภาพอีกด้วย
ด้าน นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรม ได้จัดสรรหน้ากากอนามัยให้กับโรงพยาบาลสังกัดของรัฐ 400,000 ชิ้นต่อวัน โดยจะพิจารณาถึงความจำเป็นเร่งด่วนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งตอนนี้สามารถกระจายไปถึง โรงพยาบาลในจังหวัดใหญ่ๆได้แล้วร้อยละ 99 ส่วน รพ.นอกสังกัด สธ. ได้รับ 300,000 ชิ้นต่อวัน ส่วนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะเป็นผู้ประสานติดต่อให้กับโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนสามารถติดต่อกับโรงงานผู้ผลิตได้โดยตรง และมีตัวเลขรายงานว่า รพ.เอกชน และคลินิกได้รับ 140,000 ชิ้นต่อวัน ,รพ.ในสังกัด กทม. ได้รับ 70,000 ชิ้นต่อวัน และรพ. สังกัดมหาวิทยาลัยและคณะทันตแพทย์ ได้รับ 60,000 ชิ้นต่อวัน
ส่วนกระทรวงพาณิชย์ที่ได้รับการจัดสรร 500,000 ชิ้นต่อวัน นั้น กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำจะได้รับ 200,000 ชิ้นต่อวัน ร้านธงฟ้า 150,000 ชิ้นต่อวัน ร้านขายยา 25,000 ชิ้นต่อวัน และร้านสะดวกซื้อรวมถึงหน่วยงานราชการ 125,000 ชิ้นต่อวัน โดยช่วง3วันที่ผ่านมามีการบริหารจัดการกว่าล้านชิ้น และคาดการณ์ว่า 1-2 วันนี้สถานการณ์หน้ากากอนามัยขาดแคลนจะคลี่คลายโดยเร็ว มีใช้ ในโรงพยาบาลและเพียงพอต่อบุคลากรทางการแพทย์
ขณะที่ประเด็นการจัดสรรงบกลาง 225 ล้านบาท ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. กว่า 1,400 แห่งทั่วประเทศ จัดทำหน้ากากทางเลือกนั้น นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จัดอบรมให้ความรู้แก่บุคคลากรกว่าล้านคน ตามความสมัครใจโดยมีการจัดทำหน้ากากผ้าอย่างต่อเนื่อง ยืนยันว่างบประมาณดังกล่าวไม่ได้มากเกินความจำเป็นเนื่องจากมีต้นทุนอุปกรณ์ อยู่ที่ 4.5 บาทต่อ 1 ชิ้น ตามเป้าหมาย 50 ล้านชิ้น และไม่ได้เป็นการทำงานซ้ำซ้อน เป็นเรื่องที่ดีหากมีภาคส่วนอื่นร่วมกันจัดทำหน้ากากแจกจ่ายประชาชน
ด้าน นายจักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึง มาตรการรับมือแรงงานไทยกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงหลังพ้นกักตัว 14 ว่า กระทรวงแรงงานได้มีการจัดตั้งศูนย์รองรับไว้แล้ว โดยมีการประชุมร่วมกับทูตแรงงานทั้ง 12 ประเทศ ขณะนี้ยังไม่มีนัยยะในการเลิกจ้างงานใดๆ แต่ได้มีการเตรียมความพร้อมในการดูแลบริษัทที่อาจปิดตัว เช่น การให้ลูกจ้างไม่ต้องมาทำงานและให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเพียงร้อยละ 75
ทั้งนี้ ที่ประชุมสำนักงานประกันสังคม มีมติเห็นชอบ เรื่องการปรับลดการส่งเงินสมทบประกันสังคมให้กับลูกจ้างและนายจ้าง จากเดิม ร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 4 เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกจ้างผู้ประกอบการ เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่สิ้นเดือนมีนาคมนี้
นายจักษ์ กล่าวอีกว่า หลังจากแรงงานไทยที่กลับและผ่านการกักตัวไว้ 14 วันแล้ว กระทรวงแรงงาน จะดำเนินการตรวจสอบสิทธิประโยชน์การเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางาน เพื่อไปทำงานในต่างประเทศ แก่แรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาด หากเป็นสมาชิกฯ มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนเนื่องจากโรคระบาด ซึ่งทางการของประเทศของประเทศนั้นประกาศกำหนดแล้ว จำนวน 15,000 บาท สำหรับผู้ที่ประสงค์จะทำงาน กรมการจัดหางานได้เตรียมตำแแหน่งงานว่างไว้รองรับจำนวน 66,000 อัตรา เช่น นักวิศวกรรม/ฝ่ายผลิต พนักงานฝ่ายขาย พนักงานบริการ เป็นต้น โดยอัตราการจ้างงานได้รับค่าแรงขั้นต่ำทางกฎหมาย ส่วนแรงงานตามทักษะจะได้รับตามวุฒิการศึกษา ส่วนผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะฝีมือจากเดิมในระบบ 70,000 คน กรมพัฒนาฝีมือแรงงานก็ได้เปิดฝึกอบรมเพิ่มอีก 30,000 คน รวมฝึกทั้งสิ้น 100,00 คน ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระจะต้องการจะพัฒนาทักษะฝีมือ กรมพัฒนาฝีมือแรงานก็จะฝึกฝีมือให้จากเดิม 100,000 คน ได้เปิดฝึกอบรมเพิ่มอีก 20,000 คน รวมฝึกทั้งสิ้น 120,000 คน
ด้าน พันตำรวจเอกเชิงรณ ริมผดี รองโฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กล่าวถึง มาตราการตรวจคนเข้าเมืองโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง 4 ประเทศ ได้สนับสนุนการปฏิบัติงานทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องทุกหน่วย ในการช่วยให้ข้อมูลผู้โดยสารที่เดินทางเข้าประเทศ จัดส่งให้กับกรมควบคุมโรค ขณะนี้สนามบินหลัก 4 สนามบิน ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ และภูเก็ต รับผู้โดยสารจากประเทศเสี่ยงเฉลี่ยวันละ 4,500 คน ส่วนกรณีแรงงานไทยผิดกฎหมาย ที่เดินทางกลับประเทศไทยขอชี้แจงว่า เป็นกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองเฉพาะประเทศนั้นๆ สั่งการ ตม .จังหวัดต่างๆ ช่วยพนักงานควบคุมโรคและติดตามผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยงว่ามีการกักตัวที่บ้านตามที่กำหนด 14 วันหรือไม่
ขณะที่ นายแพทย์ ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์รุ่งเรือง กิตผาติ โฆษกประจำกระทรวงสาธารณสุข ได้ระบุถึงการเตรียมรับมือการเข้าสู่โควิดระดับที่ 3 ว่ากระทรวงสาธารณสุขได้พยายามควบคุมสถานการณ์อย่างเต็มที่โดยมีแผนเผชิญเหตุอย่างชัดเจน ซึ่งรัฐบาลและทุกหน่วยงานมีการผสานการทำงานแลกเปลี่ยนข้อมูล ยืนยันว่าสามารถติดตามแรงงานไทยผิดกฎหมายได้ทั้งหมด อีกทั้งขอให้มั่นใจระบบสาธารณสุขของไทยว่ามีความชัดเจน.-สำนักข่าวไทย