กทม.10 มี.ค.-ผบช.น.กำชับทุก สน.ในพื้นที่คุมเข้มการกักตุนสินค้าจำเป็นช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด เอาผิดทั้งจำทั้งปรับ
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 หรือโควิด 19 (COVID – 19)ในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน แต่กลับมีกลุ่มบุคคล รวมถึงผู้ประกอบการบางรายอาศัยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน เช่น การกักตุนสินค้าป้องกันโรค (หน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ) การจำหน่ายสินค้าฯในราคาสูงเกินควร จำหน่ายสินค้าฯ ไม่มีคุณภาพ หรือ นำสินค้าฯ ใช้แล้วมาหลอกขายว่าเป็นสินค้าใหม่ หรือหลอกลวงขายสินค้าซึ่งไม่มีอยู่จริงให้แก่ประชาชน พลตำรวจโท ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จึงกำชับให้สถานีตำรวจ และหน่วยงานในสังกัด เฝ้าติดตามตรวจสอบ หากพบการกระทำผิดให้รวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทุกราย โดยการกระทำผิดข้างต้นมีอัตราโทษดังต่อไปนี้ 1. การกักตุนสินค้าควบคุมโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาตรา ๓๐ ประกอบมาตรา 41 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2. การจำหน่ายสินค้าและบริการที่ควบคุมเกินราคา เป็นความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาตรา ๓๙ ประกอบมาตรา ๒๖ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3. การจำหน่ายสินค้าด้อยคุณภาพเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๖0,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ 4. การหลอกลวงขายสินค้าซึ่งไม่มีอยู่จริงให้แก่ประชาชน อาจเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตามมาตรา 341 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ หากฉ้อโกงประชาชน ตามมาตรา 343 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่กรณี
สำหรับประชาชนที่สั่งซื้อสินค้าออนไลน์ขอให้ใช้ความระมัดระวังในการสั่งซื้อสินค้า โดยตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ขาย ดังนี้ 1. ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ขายจากกลุ่มที่ทำการซื้อขาย , 2. ตรวจสอบชื่อบัญชีและเลขบัญชีของผู้ขายจากสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ว่ามีการขึ้นบัญชีโกงหรือไม่ ,3. ตรวจสอบคำวิจารณ์ (review) การซื้อขายสินค้าของผู้ขาย, 4. อย่าเห็นแก่สินค้าราคาถูก ซึ่งอาจด้อยคุณภาพ, 5. หากเป็นไปได้ ให้นัดรับสินค้าจากผู้ขายโดยตรง, 6. อย่าสั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายครั้งละปริมาณมากๆ , 7. สังเกตวิธีการมัดจำราคาสินค้า
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีการซื้อสินค้าออนไลน์ในกรุงเทพมหานครแล้วไม่ได้รับสินค้า ขอให้ผู้ซื้อเตรียมหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อซื้อขาย เช่น ภาพเว็บไซต์ เพจ หรือหน้าที่ประกาศขายสินค้า ข้อความสนทนาระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย รายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ขาย เช่นชื่อ หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล์ เลขบัญชีธนาคารของผู้ขาย และหลักฐานการโอนเงินชำระค่าสินค้า และนำหลักฐานดังกล่าวเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ณ สถานีตำรวจพื้นที่ที่มีการตกลงซื้อขายสินค้า หรือโอนเงินชำระค่าสินค้า
สำหรับความผิดที่เป็นการฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้เสียหายจะต้องเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดนอกจากนี้ หากประชาชนพบเบาะแสการกระทำผิดดังกล่าว หรือพบบุคคลที่เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศดลุ่มเสี่ยง ที่ไม่กักตัว 14 วัน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข สามารถแจ้งมายัง กองบัญชาการตำรวจนครบาล ผ่านสถานีตำรวจในพื้นที่ หรือ ศูนย์วิทยุ 191 เพื่อตรวจสอบและดำเนินการต่อไป.-สำนักข่าวไทย