กรุงเทพฯ 6 มี.ค. – กลุ่มโรงกลั่นพร้อมลดราคา โดยมีเงื่อนไขรัฐต้องปรับ SPEC โรงกลั่นฯของไทยให้เหมาะสม ต้นทุนก็จะลดลง ชี้ราคาอ้างอิง ควรคำนวณจาก mob95 ที่ซื้อขายหลักในเอเชีย
ในขณะนี้กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันได้รับผลกระทบจากการใช้น้ำมันทั่วโลกที่ลดลงจากโรคโควิด-19 ซึ่งล่าสุด โรงกลั่นไทยออยล์ก็ได้ปรับตัวลดการผลิตน้ำมันเครื่องบินลงครึ่งหนึ่งแล้วปรับมาผลิตดีเซลทดแทน นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นฯยังได้รับแรงกดดันจากในประเทศ โดยคณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรมที่มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน มีตัวแทนหลายภาคส่วนและภาคประชาชน ร่วมเป็นกรรมการเสนอให้ลดราคาหน้าโรงกลั่นลง 50 สตางค์/ลิตร โดยพิจารณาทั้งจากค่าขนส่ง ค่าสำรองน้ำมันตามกฎหมาย ค่าปรับคุณภาพน้ำมันและค่าประกันภัย
นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ทางกลุ่มโรงกลั่นได้ชี้แจงในการประชุมร่วมกับคณะทำงานดังกล่าวไปเมื่อเร็วๆนี้ว่าพร้อมจะปรับลดราคาก็ต่อเมื่อกระทรวงพลังงานปรับลดมาตรฐานคุณภาพการผลิตน้ำมันของโรงกลั่นไทยลง เพื่อให้มีต้นทุนลดลงได้ เพราะปัจจุบันนี้แม้ไทยและสิงคโปร์จะใช้มาตรฐานยูโร 4 เช่นเดียวกัน แต่ปรากฏว่าข้อกำหนดในรายละเอียดของไทยกำหนดมาตรฐานที่สูงกว่าสิงคโปร์ ต้นทุนจึงแพงกว่า เช่น ค่าเบนซีน , ความดันไอ ,อุณหภูมิการระเหย
นอกจากนี้ ราคาที่คณะทำงานฯนำมาพิจารณานั้นเป็นราคาอ้างอิงออกเทน 91 (mob 91 ) ไม่ใช่ mob 95 ซึ่งเป็นน้ำมันที่ซื้อขายปริมาณสูงในเอเชียและเป็นราคาอ้างอิงที่ใช้กัน โดย mob91 มีการซื้อขายน้อยมาก เป็นราคาประเมินเท่านั้น
นายบัณฑิตกล่าวว่า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ที่แท้จริงต่อทุกฝ่าย กลุ่มโรงกลั่นฯจึงเสนอให้กระทรวงพลังงานตั้งคณะทำงานที่มีผู้เชี่ยวชาญมาพิจารณาปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน กำหนดSPEC ให้เหมาะสมกับประเทศไทย ว่าอะไรที่มีข้อกำหนดสูงเกินไป มีความจำเป็นจริงหรือไม่ และเมื่อไทยจะส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ SPEC ของโรงกลั่นฯที่เหมาะสม ควรเป็นอย่างไร โดยหากลด SPEC ลง ต้นทุนก็จะลดลง ราคาหน้าโรงกลั่นก็จะสามารถปรับลดลงได้
“แม้ไทยและสิงคโปร์จะมีการกำหนดมาตรฐานยูโร 4 เช่นกัน แต่ จากSPEC รายละเอียดของโรงกลั่นไทยตามข้อกำหนดภาครัฐนั้นสูงกว่า โรงกลั่นสิงคโปร์ ดังนั้น หากให้เกิดความเป็นธรรม การลด SPEC ลงมา ราคาก็จะปรับลดลงได้ สร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายอย่างแท้จริง” ประธานกลุ่มโรงกลั่นฯ ส.อ.ท.กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงาน ในเร็วๆนี้กรมธุรกิจพลังงานจะเชิญกลุ่มโรงกลั่นฯ ซึ่งมีทั้ง 6 โรง กำลังผลิตราว 1 ล้านบาร์เรล/วันมาประชุม ในเรื่องการกำหนด SPEC น้ำมันพื้นฐาน G-BASE ใหม่ สำหรับการส่งเสริมอี 20 เป็นน้ำมันหลักของกลุ่มเบนซิน และยกเลิกการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 ซึ่งหากไม่กำหนด G-BASE ใหม่ ก็คาดว่า ประเทศไทยจะต้องนำเข้า G-BASE 95 เพิ่มขึ้นและต้องส่งออก G-BASE 91 ซึ่งสร้างความไม่สมดุลย์ของการผลิต จำหน่ายน้ำมันของประเทศ
ก่อนหน้านี้ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การพิจารณาราคาหน้าโรงกลั่นฯต้องดูทุกด้านที่เป็นธรรมไ เพราะธุรกิจน้ำมันของไทยเป็นกลไกลตลาดเสรี โดยที่ผ่านมากลุ่มโรงกลั่นฯมีทั้งขาดทุนและกำไร ตามภาวะเศรษฐกิจ โดยช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ โรงกลั่นก็ขาดทุน ก็ไม่มีฝ่ายใดคำนึงถึง และที่สำคัญปัจจุบันนี้ โรงกลั่นฯมีกำลังกลั่นราว 9 แสนบาร์เรล/วัน คิดเป็นการกลั่นน้ำมันกลุ่มดีเซลและเบนซิน ราว 60 ล้านลิตรต่อวัน หากลดราคาลง 50 สตางค์/ลิตร ก็จะมีผลราว 30 ล้านบาท/วัน ซึ่งก็จะกระทบทั้งรายได้ของโรงกลั่น และกระทบต่อการจ่ายภาษีแก่ภาครัฐ โดยหากรัฐต้องการให้ราคาน้ำมันขายปลีกลดลง ภาครัฐก็ควรจะมาดูถึง โครงสร้างราคาน้ำมัน ที่พบว่า มีการจ่ายภาษีและกองทุฯแก่รัฐค่อนข้างสูง หากจะลดจริงควรดูสิ่งนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากราคาน้ำมันปรับลดสูงมากเกินไป จะส่งผลทำให้เกิดการใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพอีกด้วย . -สำนักข่าวไทย