ภูเก็ต 3 มี.ค.- ผอ.รพ.วชิระภูเก็ต แจงทุกข้ออย่างละเอียด 6 ประเด็นการรับมือโควิด-19 หลังมีข่าวถูกหมอแจ้งความ ยืนยันการดูแลรักษามีมาตรฐานระดับประเทศ วางระบบคัดกรอง-เฝ้าระวังผู้ป่วยต้องสงสัยชัดเจนเป็นไปตามกระทรวงสาธารณสุข
วันนี้ (3 มี.ค.) ที่ห้องประชุมฉัตรฟ้า โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นพ.ธนิศ เสริมแก้ว นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และ นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต แถลงข้อเท็จจริงกรณีมีข่าว “หมอภูเก็ต” แจ้งความผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้านการป้องกันโควิด–19
นพ.เฉลิมพงษ์ ชี้แจงว่า การปฏิบัติงานของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตในสถานการณ์เฝ้าระวังโควิด-19 นั้นจะต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพได้มาตรฐาน รวมทั้งมีแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง จึงได้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อรับมือการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งเป็นภารกิจที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตได้ดำเนินการเช่นเดียวกับทุกจังหวัดที่โรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัดเป็นแม่ข่ายในการควบคุมโรค และการเฝ้าระวังผู้ป่วยต้องสงสัยตามคำนิยามว่าจะติดเชื้อ โดยร่วมกับโรงพยาบาลถลางและโรงพยาบาลป่าตอง การดำเนินการดังกล่าวอาจเป็นที่มาทำให้แพทย์ทั้ง 2 ไปแจ้งความ และเห็นว่าควรย้ายผู้ต้องสงสัยทั้งหมดไปยังโรงพยาบาลถลาง แต่หากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตดำเนินการตามข้อเรียกร้องเช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลถลาง ทั้งในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์และเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ รวมถึงประชาชนในพื้นที่อำเภอถลาง จึงนำไปสู่ประเด็นที่มาของการแจ้งความ จึงขอชี้แจงข้อแจ้งความทั้ง 6 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ข้อเสนอให้ผู้ป่วยต้องสงสัยแยกไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลถลาง ซึ่งไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเรียกร้องดังกล่าวได้ เพราะโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตมีความพร้อมในด้านการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญ และมีห้องแยกที่พอเพียง ทั้งยังมีศักยภาพในการดูแลผู้ต้องสงสัยโควิด-19 ในกรณีอาการรุนแรงได้ดีกว่า ซึ่งขณะนี้ทั้งสามโรงพยาบาลได้ช่วยกันรับเคส PUI และยังบริหารจัดการได้ดี และเป็นการป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ไม่ให้เกิดความเสี่ยงด้วย
ประเด็นที่ 2 แจ้งความว่าไม่มีอุปกรณ์ป้องกันที่เพียงพอ ขอยืนยันว่าอุปกรณ์ป้องกันอันตราย PPE มีให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้อย่างพอเพียงในทุกจุดที่ให้บริการ โดยมีการสนับสนุนกันระหว่างโรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 11 ทั้งในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ และเครื่องมือทางการแพทย์ ระหว่างกัน ทั้งนี้ ในส่วนของบุคลากรมีการสวมใส่ชุดป้องกันตามลำดับ ความสำคัญของความเสี่ยง มีมาตรการการล้างมือทำความสะอาด ขอยืนยันว่าอุปกรณ์ต่าง ๆ มีความพร้อม ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข
ประเด็นที่ 3 มีการแจ้งความว่านำผู้ป่วยต้องสงสัย จากเอกชน มารักษาในห้องไอซียู อายุรกรรมรวม มีการใช้เคาน์เตอร์พยาบาลร่วมกัน ขอชี้แจงว่า เคยมีเคสผู้ป่วยต้องสงสัยชาวจีน ซึ่ง ข้อมูลจริงๆ ผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจล้มเหลว ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ดังนั้น จำเป็นต้องมาเฝ้าสังเกตอาการที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ให้เข้าไปอยู่ในห้องอายุรกรรมรวม ผลการตรวจผู้ป่วยรายนี้เป็นลบ ไม่ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนผู้ต้องสงสัยตามคำนิยามรายอื่นเข้าสู่ห้องที่โรงพยาบาลเตรียมไว้ ณ ตึกรัตนโกสินทร์ 200 ปี
ประเด็นที่ 4 แจ้งว่ามีผู้ป่วยต้องสงสัย และยังไม่ได้ดำเนินการวินิจฉัยจนถึงที่สุดไปนอนรวมกับผู้ป่วยรายอื่น ๆ นั้น ประเด็นนี้ไม่เป็นความจริง ผู้ป่วยต้องสงสัยทุกรายจะเข้ารับการรักษาหน้าตึกรัตนโกสินทร์ 200 ปี มีห้องรองรับทั้งหมด 19 ห้อง มีห้องน้ำในตัว เครื่องใช้ต่าง ๆ มีการแยกและทำความสะอาด ผู้ที่จะเข้าไปสัมผัสบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล ต้องมีการแต่งกายอย่างมิดชิดเพื่อป้องกัน เป็นไปตามมาตรฐาน และโรงพยาบาลไม่เคยให้ผู้ป่วยที่มีนัยยะความเสี่ยงโควิด-19 ไปปะปนกับผู้ป่วยอื่น ๆ
ประเด็นที่ 5 แจ้งว่าไม่มีการตรวจเจ้าหน้าที่ที่ทำงานใกล้ชิดกับการควบคุมและรักษา ขอเรียนว่านโยบายกระทรวงสาธารณสุข จะดำเนินการเฝ้าระวังในเคสของบุคลากรที่กลับจากต่างประเทศ ให้กักตัวอยู่ที่บ้าน 14 วัน ขอยืนยันว่าโรงพยาบาลมีมาตรการในการป้องกันบุคลากรทางการแพทย์อย่างสูงสุด และเป็นไปตามลำดับขั้นมีมาตรฐานที่มีความเหมาะสม ทั้งการสวมชุดป้องกันโรคการสวมหน้ากากอนามัย การทำความสะอาดล้างมือ ดังนั้น ในวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้ตรวจบุคลากรทางการแพทย์ทั้ง 2,500 คน ไม่สามารถดำเนินการได้
ประเด็นที่ 6 ยืนยันมีการจัดเตรียมสถานที่รับผู้ป่วยฉุกเฉิน แยกจากผู้ป่วยต้องสงสัยอย่างชัดเจน ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าระบบการรับมือ การควบคุมโควิด-19 ของจังหวัดภูเก็ต ได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานระดับประเทศ และมีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้น ประเด็นที่มีการแจ้งความอาจเป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อน.-สำนักข่าวไทย