กรุงเทพฯ 24 ก.พ. – กลุ่ม ปตท.ลงทุน 5 ปี 9 แสนล้านบาท ร่วมกระตุ้นจีดีพี ร้อยละ 0.2-0.3 คุยปันผลปี 62 สูงสุดร้อยละ 62.5 ของกำไรสุทธิ เพื่อเพิ่มเงินในกระเป๋าผู้ถือหุ้นลดผลกระทบเศรษฐกิจ พร้อมช่วยลดราคาแอลพีจีสำหรับผู้มีรายได้น้อยต่อเนื่องถึงสิ้นมิถุนายนนี้
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.เตรียมแผนการลงทุนปี 2563 – 2567 วงเงินรวม 180,814 ล้านบาท และจัดเตรียมงบลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในระยะ 5 ปีข้างหน้า จำนวน 203,583 ล้านบาท และหากรวมกับบริษัทในกลุ่มทั้งหมดจะมีเม็ดเงินลงทุนปี 5 ปีข้างหน้า รวม 900,000 ล้านบาท เป็นเงินลงทุนในต่างประเทศต่อในประเทศประมาณร้อยละ 50-60 ต่อ 50-40 ซึ่งจะเป็นส่วนของการกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 0.2-0.3 ของจีดีพีของประเทศไทย ซึ่งการลงทุนจะเน้นด้านความมั่นคงพลังงานและการรองรับนวัตกรรมที่รองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการดูแลภาคประชาชน ด้านราคาน้ำมันยังคงเป้าหมาย “ขึ้นช้า-ลงเร็ว” เพื่อแบ่งเบาภาระประชาชน โดยปีนี้คาดราคาน้ำมันดูไบเฉลี่ย 60ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ลดลงจากปี 2562 ที่ราคาเฉลี่ย 63 ดอลลาร์/บาร์เรล และล่าสุดคณะกรรมการ ปตท.ได้อนุมัติการบริจาคเงินเข้ากองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ในรูปแบบส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 50 บาท/คน/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึง 30 มิถุนายน 2563 โดยใช้งบดำเนินงาน 30 ล้านบาท
นอกจากนี้ เพื่อช่วยให้ผู้ถือหุ้นมีเงินในการจับจ่ายใช้สอยในภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก คณะกรรมการ ปตท.จึงได้อนุมัติปันผลจากผลประกอบการปี 2562 ในสัดส่วนสูงที่สุดตั้งแต่มีการกระจายหุ้น คิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผล (Payout ratio) ร้อยละ 62.5 ของกำไรสุทธิ และอัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) ที่ร้อยละ 4.5 โดยปันผลทั้งสิ้น 2 บาท/หุ้น รวมเป็นเงิน 57,126 ล้านบาทส่งผลให้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และกองทุนวายุภักษ์จะได้รับเงินปันผล รวมประมาณ 36,145 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินงบประมาณของประเทศนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งสามารถสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านเงินปันผล 20,981 ล้านบาท ให้นักลงทุนสถาบันและผู้ถือหุ้นรายย่อยกว่า 130,000 ราย อย่างไรก็ตาม หากเมื่อรวมเงินปันผลและภาษีเงินได้ของกลุ่ม ปตท.ปี 2562 แล้ว กลุ่ม ปตท.นำเงินส่งรัฐรวม 70,259 ล้านบาท
สำหรับผลประกอบการปี 2562 ปตท.และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 2.2 ล้านล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 92,951 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.2 ของรายได้ ปรับลดลงร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาตามสภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เนื่องมาจากผลกระทบของสงครามทางการค้าโลก ทำให้ความต้องการของผู้บริโภคชะลอตัวและส่งผลให้ส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปและราคาน้ำมันดิบ และส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับลดลง ประกอบกับปัจจัยภายในประเทศ เงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อการส่งออกและอุตสาหกรรมทั้งภาคการผลิตและภาคขนส่ง ส่งผลให้ปริมาณความต้องการพลังงานและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไม่เติบโตตามเป้าหมาย รวมถึงปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและการกลั่นที่ลดลงจากการหยุดซ่อมบำรุงขนาดใหญ่ประจำงวดตามแผนของกลุ่มปิโตรเคมีและการกลั่น และค่าใช้จ่ายชดเชยพนักงานเพิ่มเติม โดยเปลี่ยนการคิดค่าจ้างอัตราสุดท้ายจาก 300 วัน เป็น 400 วัน ตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ส่งผลให้กลุ่ม ปตท.มีค่าใช้จ่าย 4,219 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ปี 2563 คาดว่าผลการดำเนินการโดยรวมจะดีขึ้นมากกว่าปีที่แล้ว หลังจากมาร์จิ้นไตรมาส 4 /2563 อยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก ประกอบกับ ปีนี้ปริมาณการผลิตของกลุ่มโรงกลั่นฯ และปิโตรเคมีจะดีขึ้น เพราะไม่มีการปิดซ่อมบำรุงใหญ่เหมือนปีที่แล้ว และเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนเพิ่มขึ้น ปตท.ได้กำหนดให้ ทั้งโรงกลั่นและปิโตรเคมีในเครือปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้น จากที่ปี 2562 มูลค่าการปรับปรุงประสิทธิภาพรวมกันได้ 29,721 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2561 ที่ร้อยละ 22 รวมทั้งกลุ่ม ปตท.ได้ดำเนินการ PROJECT ONE ในการสร้างพลังร่วมของกลุ่ม และบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่ธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดร่วมกัน
นอกจากนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอกและภายในไม่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย กลุ่ม ปตท.ได้แสวงหาโอกาสในขยายการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติรองรับการเติบโตของการผลิตไฟฟ้า การขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศผ่านการร่วมลงทุนหรือการซื้อกิจการ รวมถึงการปรับพอร์ทการลงทุนโดยขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจต่าง ๆ ตลอดห่วงโซ่คุณค่าตามทิศทางกลยุทธ์การลงทุนที่สอดรับกับแนวโน้มอนาคตไปสู่พลังงานสะอาดและผลิตภัณฑ์เคมีมูลค่าสูง และช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาตลาดโลก
“ปตท.ในฐานะบริษัทพลังงานของคนไทยยังคงขับเคลื่อนองค์กรทุกมิติอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานของชาติ สร้างความแข็งแกร่ง และเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจภายใต้ความท้าทายที่เกิดขึ้น ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความยั่งยืน และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อก้าวสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0” นายชาญศิลป์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย