กรุงเทพฯ 22 ก.พ.-ปตท.ทำแผนนำเข้าแอลเอ็นจีตลาดจรในปีนี้ เจรจาผู้ผลิตก๊าซฯในประเทศลดกำลังผลิต รับนโยบายนำเข้าแอลเอ็นจีราคาถูกกดไม่ให้ค่าไฟฟ้าปรับขึ้น พร้อมขยายตลาดแอลเอ็นจีในอุตสาหกรรม มีคู่ค้าร่วมนับสิบราย
นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.กำลังทำแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี ) ในรูปแบบตลาดจร (สป็อต) เข้ามา นอกเหนือจาก การนำเข้าในสัญญาระยะยาว ( Long Term) ในปริมาณ 5.2 ล้านตันต่อปี จากที่ สถานีแอลเอ็นจี มาบตาพุด สามารถรับก๊าซฯได้ 11.5 ล้านตันต่อปี โดยในขณะนี้ได้นำแผนเสนอ กับกระทรวงพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) ซึ่งเป็นไปตาม นโยบายของ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว. พลังงาน ที่ต้องการใช้โอกาสราคาแอลเอ็นจีตลาดโลกราคาถูกนำเข้ามาใช้ เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า และยืดอายุแหล่งก๊าซฯในประเทศ เพื่อสงวนไว้ให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีให้ใช้ได้ระยะยาวนานขึ้น ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มากกว่า การนำมาเผาผลิตไฟฟ้า
“ขณะนี้ ปตท.ได้เจรจากับผู้ผลิตก๊าซฯในอ่าวไทย เพื่อลดปริมาณผลิตในการนำมาผลิตไฟฟ้าแล้วนำเข้าแอลเอ็นจีมาทดแทนเพราะราคาถูกกว่า แต่ปริมาณสปอตของ ปตท.จะมากน้อยแค่ไหนต้องรอการพิจารณาจาก กระทรวงพลังงานและ สกพ. โดยในส่วนลดการใช้ก๊าซฯในประเทศนั้นได้เจรจากับผู้ผลิต ไม่ให้เกิดภาระต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคต” นายวุฒิกรกล่าว
นายวุฒิกร กล่าวว่า ในขณะนี้เร่งทำแผนส่งออก แอลเอ็นจี ตามนโยบายการเป็นฮับหรือศูนย์กลางการส่งออกมในภูมิภาคนี้ โดยในไตรมาส 3/63 จะเริ่มส่งออกได้ เช่น ไปจีน โดย เรือแบบ ISO Tank Container ซึ่งต้องยอมรับว่า จากการระบาดของ COVID-19 ขณะนี้ ความต้องการ แอลเอ็นจีของจีนลดลง แต่ เชื่อมั่นว่า ในไตรมาส3 นี้ ความต้องการจะกลับมา โดยการจำหน่ายในจีนนั้น ทาง ปตท.ได้ร่วมมือกับพันธมิตรจีนในการหาผู้รับซื้อจากจีน ในขณะเดียวกัน ก็ได้หาตลาดขนส่งทางรถยนต์ เพื่อจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่ม CLMV ส่วนในไทยนั้น ก็ได้มีกลุ่ม ผู้ใช้ภาคอุตสาหกรรม ที่หันมาใช้ แอลเอ็นจี ทดแทน แอลพีจีและน้ำมันเตาเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้คู่ค้าของ ปตท.มารับแอลเอ็นจี เพื่อขนส่งไปให้ลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 10 รายแล้ว
นายวุฒิกร กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป การนำเข้าแอลเอ็นจี จะผลิตได้เท่าใด การผลิตก๊าซฯจากอ่าวไทย ซึ่งเป็นเพราะการผลิตก๊าซฯจากแหล่งบงกฃ-เอราวัณ จดละลงจาก 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เหลือ 1,500 ล้านลูกดบาสศก์ฟุตต่อวัน ในขณะที่ สถานีรับ-จ่ายแอลเอ็นจีแห่งที่ 2 คือ หนองแฟบ 7.5 ล้านตัน/ปี จะเสร็จปี 2565 เมื่อรวมกับสถานีแอลเอ็นจีแห่งที่1 “มาบตาพุด “ 11.5 ล้านตันต่อปีแล้ว ก็จะทำให้ การนำเข้าแอลเอ็นจีและการใช้ก๊าซฯจากอ่าวไทยจะใกล้เคียงกัน ในส่วนนี้ก็ต้องมีการปรับแบน หรือ ช่วงความร้อนของคุณภาพก๊าซฯจะต้องเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งในส่วนของโรงไฟฟ้า ก็ต้องมีการปรับปรุงโรงเพื่อรองรับแบนค่าความร้อนใหม่ อย่างไรก็ตาม คาดว่า โรงไฟฟ้าเก่าจะทยอยหมดอายุ โรงใหม่ เครื่องจักรใหม่ ก็จะสามารถรับค่าความร้อนใหม่ที่ต้องเปลี่ยนแปลงตามแหล่งก๊าซฯที่เข้ามาได้ โดยในเรื่องนี้ ทาง ปตท.ได้แจ้งแก่ สกพ.และกระทรวงพลังงานรับทราบแล้ว-สำนักข่าวไทย