กรุงเทพฯ 21 ก.พ. – คนใช้น้ำมันเฮ 1 มีนาคมนี้ ปรับลดราคาทั้งราคาหน้าโรงกลั่น 50 สต./ลิตร ส่วนบี 7 และบี 20 ลดราคาลงอีก 1 บาท และ 50 สตางค์/ลิตร เพื่อหนุนคนใช้บี 10 เพิ่มตามแผน ส่วนผู้ใช้อีวีและรถไฟฟ้า มีการกำหนดกรอบค่าไฟฟ้าลดราคาเป็นพิเศษ มีเงื่อนไขรถไฟฟ้าต้องลดค่าโดยสารลงด้วย
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริการนโยบายพลังงาน ( กบง.) ที่มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ว่า จากนโยบายของ รมว.พลังงานที่ให้ส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อดึงราคาสินค้าเกษตรกรให้ดีขึ้น โดยการประกาศใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี 10 เป็นน้ำมันพื้นฐานกลุ่มดีเซลและวันที่ 1 มีนาคมนี้ ทุกปั๊มจะต้องมีบี 10 จำหน่าย ดังนั้น เพื่อจูงใจให้เกิดการใช้และจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น ที่ประชุม กบง.วันนี้ (21 ก.พ.) จึงเห็นชอบให้อุดหนุนราคาบี 10 และบี 20 เพิ่มขึ้น ด้วยการเพิ่มส่วนต่างกับราคาบี 7 โดยบี 10 เพิ่มส่วนต่างกับบี 7 จาก 2 บาท เป็น 3 บาท/ลิตร และเพิ่มส่วนต่างบี 20 กับบี 7 จาก 3 บาท เป็น 3.50 บาท/ลิตร จึงมั่นใจว่ายอดใช้บี 7 ในเดือนมีนาคมจะเพิ่มเป็น 20 ล้านลิตร และจะก้าวกระโดดให้เป็นไปตามเป้าหมาย 57 ล้านลิตร/วัน ให้เร็วขึ้น และยังจูงใจให้ผู้ประกอบการขายบี 10 โดยกำหนดค่าการตลาดให้ดีเซลบี 10 มีค่าการตลาด 1.85 บาท/ลิตร ส่วนดีเซล บี 20 ลดลงเหลือ 1.55 บาท/ลิตร และบี 7 ลดลงเหลือ 1.50 บาท/ลิตร
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ในวันที่ 1 มีนาคมยังมีข่าวดี เรื่องการประกาศปรับลดราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันลงได้อีก 50 สตางค์/ลิตร ที่เป็นผลมาจากการพิจารณาของคณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม ที่มีตัวแทนจากภาคประชาชน ผู้ประกอบการ ผู้เชี่ยวชาญและภาครัฐเข้ามาร่วมพิจารณาบนเหตุและผล ก่อให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน โดยก่อนหน้านี้ตัวแทนภาคประชาชนเสนอลดราคา 1 บาท/ลิตร แต่จากข้อมูลด้านต่าง ๆ ที่พิจารณาทั้งจากค่าขนส่ง ค่าสำรองน้ำมันตามกฎหมาย ค่าปรับคุณภาพน้ำมันและค่าประกันภัย จึงเห็นได้ว่าการลดราคา 50 สตางค์นั้น เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
“วันที่ 1 มีนาคมนี้เป็นข่าวดีของผู้ใช้น้ำมันทุกรายจะได้ประโยชน์จากการลดราคาหน้าโรงกลั่น 50 สตาค์/ลิตร ส่วนผู้ใช้บี 10 และบี 20 ราคาจดลดลงอีก 1 บาท และ 50 สตางค์/ลิตรตามลำดับ ซึ่งเรื่องนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ต่อเกษตรกร และยังช่วยลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ได้ด้วย หากมีการใช้บี 10 เพิ่มมากขึ้น” นายสนธิรัตน์ กล่าว
นายสนธิรัตน์ ยังกล่าวด้วยว่า ในแผนพัฒนาไฟฟ้าระยะยาว หรือพีดีพี 2018 ฉบับปรับปรุงทั้งหมดตามแผนจะมีโรงไฟฟ้าชุมชนเข้าระบบกว่า 1,900 เมกะวัตต์ และคาดว่าค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเกือบ 8 สตางค์ต่อหน่วย จากแผนเดิมค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5903 บาท/หน่วยนั้น ล่าสุดสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ปรับปรุงข้อมูลที่ซ้ำซ้อน พบว่า ค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 5 สตางค์/หน่วยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงมีวิธีการบริหารงานที่จะไปลดต้นทุนอื่น ๆ เช่น การนำเข้าแอลเอ็นจีราคาถูกเข้ามาใช้ ก็จะพยายามไม่ให้ต้นทุนสูงขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนของโรงไฟฟ้าชุมชนจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามแผนทั้งหมดหรือไม่นั้น คงต้องรอดูระยะแรกที่จะประกาศรับซื้อ 700 เมกะวัตต์เสียก่อนว่าจะประสบความสำเร็จหรือมีอุปสรรคอย่างไร แต่ขอยืนยันว่าโรงไฟฟ้าชุมชนนั้นตั้งเป้าหมายให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง
นายสนธิรัตน์ กล่าวด้วยว่า กบง.ยังได้เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมพื้นที่ติดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Mapping) ครอบคลุมพื้นที่ชุมชน สถานีบริการน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า อาคารพาณิชย์ อาคารสำนักงาน ถนนสายหลักระหว่างเมือง โดยให้ภาครัฐและเอกชนสามารถยื่นขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้ เพื่อให้มีจำนวนสถานีเพิ่มขึ้น รวมทั้งเห็นชอบผลการศึกษาอัตราค่าไฟฟ้า อีวี และความเป็นไปได้ในการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับระบบขนส่งสาธารณะ (Mass Transit) โดยเป็นอัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่ตลอดทั้งวัน มีค่าเท่ากับอัตราค่าพลังงานไฟฟ้าช่วงเวลา Off Peak ของผู้ใช้ไฟฟ้าตามโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปัจจุบันประเภท 2.2 กิจการขนาดเล็ก อัตราตามช่วงเวลา (Time Of Use (TOU) หรือเท่ากับ 2.6369 บาทต่อหน่วย (สำหรับแรงดันไฟฟ้าน้อยกว่า 22 kV) โดยให้เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาต่อไป ซึ่งในส่วนของระบบขนส่งสาธารณะนั้น จะต้องรอดูด้วยว่า ผู้ประกอบการรถไฟฟ้าจะลดค่าโดยสารให้กับภาคประชาชนหรือไม่
ที่ประชุม กบง.ยัง เห็นชอบร่างแผนด้านพลังงานที่ปรับปรุงใหม่ 4 ฉบับ ทั้งแผนผลิตไฟฟ้า (PDP) แผนพลังงานทดแทน (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) และแผนด้านก๊าซ Gas Plan โดยเตรียมนำเสนอ กพช.วันที่ 19 มีนาคมนี้.-สำนักข่าวไทย