สธ. 20ก.พ.–สธ.เตรียมประกาศยกระดับการติดเชื้อ “โควิด-19” เป็นโรคติดต่ออันตราย หวังใช้กลไกทางกฎหมายมาควบคุมป้องกันโรค หากมีการระบาดในเฟส3 ซึ่งมีผลให้ผู้ฝ่าฝืนทั้งไทย-ต่างชาติ ไม่ปฎิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค ได้รับทั้งโทษจำ-ปรับ พร้อมย้ำไทยไม่เคยประกาศห้ามเดินทาง แต่แนะนำเลี่ยงเดินทางเพื่อความปลอดภัย จากการเพิ่มคัดกรองผู้ป่วยที่เดินทางในญี่ปุ่น สิงคโปร์ จนถึงขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วย ส่วนการพบการแพร่ระบาดในเกาหลีใต้แบบก้าวกระโดด ยังต้องจับตา แต่ห่วงจัดกิจกรรมแฟนมีทติ้ง คนร่วมต้องสวมหน้ากากอนามัย
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกลาง นายแพทย์ทรงวุฒิ กล่าวว่า ยืนยันสถานการณ์การระบาดของโรคโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 คงที่ 35 คน รักษาหายแล้ว 17 คน เหลือรักษาตัวในโรงพยาบาล 18 คน ส่วนผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการหนัก 2 คน อาการคงที่ และได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ที่ทางการจีนมีการใช้ทดลองรักษาผู้ป่วย ร่วมกับยาต้านไวรัสเอดส์ และยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ และมีการใช้เครื่องเอ็กซ์โม ปอด และหัวใจเทียม เชื่อว่ามีแนวโน้มดีขึ้น ส่วนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค สะสม 1,052 คน รักษาหายแล้วอนุญาตกลับบ้าน 861 คน เหลือรักษาตัวในโรงพยาบาล 191 คน
นพ.โสภณ กล่าวว่า หลังจากช่วงเช้าได้มีการหารือร่วมกับคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม เพื่อรับกับการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นการประชุมในนัดที่ 3 ซึ่งที่ประชุมเตรียมหารือ เพื่อยกระดับมาตรการการควบคุมโรคให้การติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่เป็นโรคอุบัติใหม่นี้ ให้เป็น โรค ติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อร้ายแรง 2558 มีผลให้เกิดการบูรณาการ ทุกภาคส่วน ทั้งด้าน 1.การระดมทรัพยากร การรักษาพยาบาล ที่มีกระทรวงสาธารณสุข 2.ช่วยชะลอป้องกันไม่ให้เกิดการระบาด ของโรค เกิดการช่วยเหลือในทุกหน่วยงานท้องถิ่น มหาดไทย และรัฐวิสาหกิจ ร่วมกันผลิตหน้ากากอนามัยผ้า
ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวจะมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 24 ก.พ. นี้ โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ร่วมกับนักวิชาการ เพื่อหาข้อสรุปว่า จะมีการยกระดับความรุนแรงของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือไม่ หากเห็นชอบก็ร่างประกาศ และลงนามให้มีผลบังคับให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตราย
นพ.โสภณ กล่าวว่า การยกระดับให้เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตราย มีผลให้สามารถใช้อำนาจทางกฎหมายเข้ามาควบคุมโรค ได้ง่ายขึ้น มากกว่าที่ทุกวันนี้เป็นการขอความร่วมมือ ใครจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติก็ได้ แต่เมื่อเป็นกฎหมาย เป็นโรคติดต่ออันตรายจะมีผลให้ ผู้ไม่ปฏิบัติตาม มีโทษทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้เพื่อเตรียมรับมือกับการระบาดของโรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อีก 2 เดือนข้างหน้าหรือการระบาดในเฟส 3 ส่วนปัจจัยของการยกระดับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้เป็นโรคติดต่ออันตราย เกิดจาก 4 ปัจจัย ได้แก่ 1.เป็นโรคที่ไม่เคยปราฎมาก่อน 2.เป็นโรคที่มีความรุนแรง มีการป่วย และเสียชีวิตสูง 3. มีการแพร่ระบาดตามประเทศต่างๆ 4. การจำกัดการเดินทาง
นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้มีการประกาศห้ามการเดินทาง เพียงแต่ให้คำแนะนำเลี่ยงการเดินทางเพื่อความปลอดภัย ในส่วนของการควบคุมป้องกันโรค ในการตรวจคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ พบว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยแม้แต่รายเดียว แต่เพื่อความไม่ประมาท ยังต้องคงมาตรการเช่นนี้ต่อไปเพื่อความปลอดภัย โดยเน้นการเฝ้าระวังคนที่มีไข้สูง 37.5 องศาและมีการป่วยระบบทางเดิน หายใจร่วมด้วย ซึ่งคาดว่าตัวเลขนักเดินทางที่มีอาการเจ็บป่วยอาจจะเริ่มแสดงได้ หากสถานการณ์การเจ็บป่วยมากขึ้นในอีก1-2 เดือน
ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศเกาหลีใต้ แบบก้าวกระโดด ยืนยันไม่ห้ามการเดินทาง และในส่วนที่จะมีการกิจกรรมแฟนมีทติ้ง นั้น เชื่อว่าในส่วนของศิลปินก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค แต่ในส่วนของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน และหมั่นล้างมือ
ส่วนกรณีที่โลกออนไลน์แชร์ว่า การติดเชื้อไวรัสโคโรนา เป็นการติดเชื้อที่เกิดจากละอองฝอยขนาดเล็กนั้น นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ยืนยันการติดต่อเกิดการละอองฝอยขนาดใหญ่จากการไอจาม ดังนั้น หากผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัยจะช่วยป้องกันไม่ให้โรคฟุ้งกระจายสู่ผู้อื่นและหมั่นล้างมือ เพื่อป้องกันการสัมผัส ขณะเดียวกันการติดต่อในระดับแอร์บอร์น เกิดขึ้นได้ในกรณีวัณโรค ซึ่งหากมองบวกและพยายามปรับเปลี่ยนด้านสุขอนามัย ต่อไปเชื่อว่า โอกาสป่วยหรือติดต่อจากโรค ระบบทางเดินหายใจและอาหารของไทย ก็จะลดลง
ส่วนเรื่องการติดตามให้การช่วยเหลือผู้โดยสารและลูกเรือชาวไทย ในเรือไดมอนด์ ปริ๊นเซสนั้น นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ได้รับรายงานจาสถานทูตญี่ปุ่น ว่า ในส่วนของคนป่วยก็ได้รับการรักษา ส่วนคนที่ผลการตรวจยืนยัน อยู่ระหว่างการติดต่อประสานมาว่าจะกลับไทยหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่ได้รับการยืนยัน ซึ่งการปฎิบัติตัว จากนี้ต้องทำตามกลไกมาตรการการควบคุมโรค ของประเทศนั้นๆ หากครบกำหนดจึงจะสามารถกลับบ้านได้ .-สำนักข่าวไทย