กรุงเทพฯ 18 ก.พ.-นักจิตวิทยาถอดบทเรียนจากเหตุกราดยิง ชี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว พฤติกรรมความรุนแรงเกิดขึ้นได้กับทุกคน จากสภาพสังคมกดดัน แนะเพิ่มทักษะการใช้ชีวิต Life Skill มากขึ้น
วันนี้ (18ก.พ.) คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนาวิชาการถอดบทเรียนทางจิตวิทยา “เหตุกราดยิง : ที่มา ทางแก้ และป้องกัน” มีนักวิชาการ นักจิตวิทยา นักอาชญวิทยา นักสื่อสารมวลชน ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น
รศ.ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต นักจิตวิทยาด้านปรับพฤติกรรม กล่าวว่า พฤติกรรมความรุนแรงที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ลงมือก่อเหตุรุนแรงนั้น สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เหตุปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้คนธรรมดาก่ออาชญากรรมรุนแรงมาจากสภาพสังคมในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป คนใจร้อนมากขึ้น อาวุธหาได้ง่ายฯลฯ ประเด็นเหล่านี้ทุกฝ่ายต้องควบคุมแก้ไขอย่างจริงจัง อีกเหตุปัจจัยจากผู้ก่อเหตุเองที่ไม่มีที่ระบาย ไม่มีที่ปรึกษา มองโลกในแง่ร้ายจนเกิดความเครียดก่อให้เกิดความรุนแรง บวกกับแรงจูงใจที่ต้องการมีตัวตนให้เป็นที่จดจำ ซึ่งในต่างประเทศ เช่นนิวซีแลนด์ที่ไม่ให้คุณค่าหรือเอ่ยชื่อผู้ก่อเหตุคสามรุนแรง ดังนั้น เราต้องนำบทเรียนเหล่านี้มาเรียนรู้เพื่อรับมือและป้องกันไม่ให้เมล็ดพันธุ์ความรุนแรงเติบโตจนเกิดเป็นพฤติกรรมการเลียนแบบ ซึ่งมองว่าสภาพสังคมของไทยยังโชคดี ที่ไม่มีพฤติกรรมลอกเลียนเหมือนในสหรัฐอเมริกา
นายนัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ในต่างประเทศโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีเหตุความรุนแรงจากการกราดยิงเกิดขึ้น มานาน เมื่อเกิดเหตุแล้วกระบวนจัดการและการระงับเหตุจะมีขั้นตอนที่ชัดเจน ตั้งแต่การลงโทษผู้ก่อเหตุ ,การเยียวยาเหยื่อและครอบครัว , เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน และการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน จากเหตุกราดยิงที่โคราช มีการแสดงความคิดเห็นจากคนในสังคมและโซเชียลมีเดียที่มักแสดงความคิดเห็นว่าต้องวิสามัญผู้ก่อเหตุ ฯลฯ ทุกขั้นตอนถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องตั้งคำถามว่า จะได้ช่วยกันได้อย่างไร ไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น เพื่อให้ทุกคนในสังคมได้อยู่ร่วมกันโดยปราศจากความรุนแรง
ผศ.ดร.พรรณรพี สุทธิวรรณ คณบดีคณะจิตวิทยา กล่าวว่า เวทีเสวนานี้มุ่งหวังให้สังคมมองเห็นถึงความสำคัญของการนำบทเรียนจากโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความรุนแรง เหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดเหตุอาชญากรรม ทางออกทางแก้ปัญหาฯลฯ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุร้ายเช่นนี้ซ้ำรอยอีก ชี้ให้ทุกคนในสังคมมองเห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัว สามารถเกิดขึ้นได้กับเราทุกคนจากสภาพสังคมที่กดดัน แนะให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไข เริ่มตั้งแต่การให้ความสำคัญในห้องเรียน โดยเพิ่มทักษะการใช้ชีวิต หรือ Life Skill มากกว่าแข่งขันทางการศึกษา เพื่อเป็นเกราะป้องกันทางจิตใจให้สามารถรับมือกับปัญหาและหาทางออกโดยไม่จบลงที่การใช้ความรุนแรง .-สำนักข่าวไทย