ศาลปกครอง 18 ก.พ.-ชาวอุดรร้องศาลปกครองสูงสุดขอคุ้มครองชั่วคราว -ระงับออกประทานบัตรเหมืองโปแตซ รอบ 2 เผยแอบลักไก่ ไม่ทำตามคำพิพากษาศาลปกครองอุดร ยื่นขอจังหวัดเร่งรัดออกใบอนุญาต
ผู้สื่อข่าวรางานว่า ที่ศาลปกครอง วันนี้ (18 ก.พ.) เวลา 10.00 น. นางมณี บุญรอด กรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี พร้อมด้วยตัวแทนชาวบ้าน อ.เมือง และ อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี พร้อมนายวีรวัฒน์ อบโอ ทนายความ เข้ายื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้ไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยสั่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรม จ.อุดรธานี กำนัน ต.นาม่วง กำนัน ต.หนองขอนกว้าง กำนัน ต.โนนสูง กำนัน ต.หนองไผ่ นายกเทศมนตรี ต.โนนสูง และกำนัน ต.ห้วยสามพาด ชะลอการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรของบริษัทเอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด เรื่องกำหนดขั้นตอนระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตตาม พ.ร.บ.แร่ 2560 ส่วนที่ 3 การทำเหมืองใต้ดินไปก่อนจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษา
นางมณี กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2536 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ ได้ลงไปสำรวจพี้นที่ใน จ.อุดรธานี อ้างว่าเพื่อหาบ่อน้ำมัน จนปี 2540 ชาวบ้านถึงเพิ่งทราบจากเอ็นจีโอที่ลงพื้นที่ว่ากรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ สำรวจ เพื่อจะเปิดให้มีการทำเหมืองโปแตชทั้งจังหวัดกินพื้นที่ 70,000 ไร่ โดยในส่วน 2 อำเภอ 5 ตำบลที่มายื่นฟ้องครั้งนี้เป็นพื้นที่ 2.6 หมื่นไร่ ที่ชาวบ้านมีการต่อสู้มาตลอดหลาย 10 ปี มีการฟ้องต่อศาลปกครองอุดรธานี จนศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2561 ว่ากระบวนการจัดทำรายงานการไต่สวนของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ กับพวกไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.แร่ 2510 และให้กระบวนการขอใบอนุญาตเป็นไปตาม พ.ร.บ.แร่ 2560 โครงการจึงถูกระงับไว้ แต่บริษัทเอเชีย แปซิฟิกฯ พยายามที่จะดำเนินโครงการฯ โดยมีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียใหม่ แต่ทำให้ค่ายทหาร และล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่ มีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 16 ธันวาคม 2562 เมื่อชาวบ้านมีหนังสือสอบถามถึงผลการประชุม กลับได้รับคำตอบว่าขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น การสำรวจรังวัด ปักหมุดใหม่ ตามที่ศาลปกครองอุดรธานีได้มีคำพิพากษาทางบริษัทฯ ได้มีการดำเนินการใหม่ครบถ้วนแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนตั้งคณะกรรมการพิจารณาออกประทานบัตรให้กับบริษัทฯ จึงเห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองอุดรธานี จึงต้องมาร้องขอการคุ้มครองจากศาลปกครองสูงสุด
“ตอนนี้เหมืองยังไม่มีการทำ แต่ชาวบ้านก็ได้รับผลกระทบแล้ว เพราะแบ่งเป็น 3 ฝ่าย ทั้งฝ่ายหนุนทำเหมือง ฝ่ายคัดค้าน และฝ่ายเป็นกลาง แตกแยกกันถึงขนาดไม่ทำบุญร่วมกัน ไม่เผาผีกัน แล้วถ้ามีการทำเหมืองจริง จะเกิดปัญหาขนาดไหน ที่ผ่านมามีผู้ว่าราชการจังหวัดมา 10 กว่าคน ไม่มีใครกล้า แต่ผู้ว่าฯ คนใหม่ เพิ่งจะมารับตำแหน่ง กลับเร่งรัดเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะออกประทานบัตร โดยที่กีดกั้นไม่ให้ชาวบ้านที่มีส่วนได้เสียเข้าร่วมประชุม เมื่อสอบถามก็ไม่ให้ข้อมูล” นางมณี กล่าว
ด้านนายวีรวัฒน์ กล่าวว่า ตามคำพิพากษาศาลปกครองอุดรธานี ถ้าบริษัทฯ จะดำเนินการโครงการต่อ ต้องกลับไปเริ่มต้นกระบวนการใหม่หมด ตาม พ.ร.บ.แร่ 2560 ที่กำหนดว่าต้องจัดทำรายละเอียดลักษณะภูมิประเทศในพื้นที่ที่จะขอประทานบัตร โดยพื้นที่ดังกล่าวจะต้องไม่เป็นพื้นที่ด้านความมั่นคง พื้นที่อนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อม หรือด้านโบราณสถาน ซึ่งต่างกับ พ.ร.บ.แร่ 2510 ที่ไม่มีการกำหนดไว้ นอกจากนี้ในกระบวนการรับฟังความเห็นตามกฎหมาย ต้องรับฟังในพื้นที่ ๆ ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่ไปรับฟังในค่ายทหาร ซึ่งอยู่นอกเขตพื้นที่เกินกว่า 10 กิโลเมตรที่กฎหมายกำหนด จึงเห็นว่าการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลเก่าที่มีการทำตาม พ.ร.บ.แร่ 2510 มาเป็นหลักฐานในการพิจารณาจะอนุญาตออกประทานบัตรเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง.-สำนักข่าวไทย