ทำเนียบฯ 13 ก.พ. – รองนายกรัฐมนตรีสั่งพาณิชย์เร่งศึกษาเข้าร่วม CPTPP และเร่งเครื่องเจรจา FTA ไทย-ยุโรป ยืนยันไม่ให้ผู้ส่งออกหรือประชาชนได้รับผลกระทบ เตรียมตั้งกองทุนรองรับ หลังเวียดนาม กระโดดเข้าร่วมทั้ง 2 เวที
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ครั้งที่ 1/ 2563 กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานผลศึกษาข้อดี ข้อเสีย จากการเข้าร่วมกลุ่มประเทศ CPTPP เพื่อตัดสินใจว่าควรเข้าร่วมหรือไม่ในการประชุม กนศ.เดือนพฤษภาคมครั้งต่อไป เพราะเบื้องต้นไทยได้แสดงความสนใจเข้าร่วม หากได้ข้อสรุปเตรียมเสนอ ครม.พิจารณา หลังจากเวียดนามตัดสินใจเข้าร่วมไปแล้ว เพราะญี่ปุ่นต้องการให้ไทยเข้าร่วมกลุ่ม CPTPP แต่ต้องศึกษาข้อดี ข้อเสียให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบ
รวมทั้งเร่งรัดการเดินหน้าเจรจาเสรีการค้า FTA ไทย-ยุโรป เนื่องจากสหภาพยุโรป (อียู) เตรียมประกาศรับรองผลเจรจา FTA กับเวียดนาม จะมีผลบังคับในเร็ว ๆ นี้ ยอมรับว่าอียูเป็นตลาดการค้าขนาดใหญ่ เมื่อไทยมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งแล้ว จึงเป็นโอกาสสำคัญในการเจรจา เพื่อขยายตลาดสินค้าไปตะวันตก นอกจากนี้ ต้องการให้ที่ประชุม กนศ.หารือด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การเจรจาการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศมีความคืบหน้า
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า เพื่อลดผลกระทบจากการเจรจา FTA ไทย-ยุโรป จึงเสนอตั้งกองทุนลดผลกระทบและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันกับผู้ส่งออกไทยไปยุโรป จึงต้องหารือกับหลายฝ่าย หลังเปิดงานสัมมนารับฟังความเห็นจากหลายฝ่ายทั้งเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ขณะนี้เตรียมการคืบหน้าไปพอสมควร ผลศึกษาสรุปได้ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้หรือต้นเดือนมีนาคม 2563
ส่วนการเตรียมการเข้าร่วมกลุ่ม CPTPP โดยมีญี่ปุ่นเป็นแกนนำต้องเจรจากับสมาชิก 7 ประเทศหลัก คือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ เวียดนาม แม็กซิโก และแคนาดา จากนั้นต้องตั้งคณะทำงาน เพื่อไม่ให้ไทยเสียเปรียบ เช่น สิทธิบัตรยา CL การใช้เมล็ดพืชเพาะปลูก จึงต้องเจรจาเพิ่มเติม สำหรับโอกาสและการเสียโอกาสจากการเข้าร่วมกลุ่ม CPTPP นั้น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สิงคโปร์มีการเติบโตทางการค้าระหว่างประเทศร้อยละ 9.92 มีการลงทุนต่างประเทศ (FDI) ล่าสุด 63,939 ล้านบาท เวียดนาม การค้าเติบโตร้อยละ 7.85 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ 16,940 ล้านบาท ส่วนไทยยังไม่เข้าร่วม การค้าระหว่างประเทศเติบโตร้อยละ 3.23 การลงทุน FDI 9,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าหากไม่เข้าร่วม CPTPP จะเสียโอกาสกระทบต่อจีดีพีหดตัวร้อยละ 0.25 หรือมูลค่าทางเศรษฐกิจ 26,600 ล้านบาท หากเข้าร่วมทำให้จีดีพีขยายตัวร้อยละ 0.12 มูลค่าทางเศรษฐกิจ 13,300 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย