ไทเป 8 ก.พ.- ไต้หวันจะผ่อนปรนคำสั่งห้ามนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นหลังเกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิปี 2554 ซึ่งทำให้เกิดรังสีรั่วไหลที่โรงไฟฟ้า โดยหวังปูทางให้แก่การเข้าเป็นสมาชิกข้อตกลงความครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกหรือซีพีทีพีพี (CPTPP) และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน
ประธานาธิบดีไช่ อิง-เหวินของไต้หวันโพสต์เฟซบุ๊กแจ้งเรื่องคณะรัฐมนตรีตัดสินใจผ่อนปรนคำสั่งดังกล่าวว่า ไต้หวันต้องเข้าสู่สากลและยืนอยู่บนเวทีโลกด้วยการเข้าร่วมองค์กรต่าง ๆ เช่น ซีพีทีพีพี ขณะที่โฆษกคณะรัฐมนตรีแถลงว่า หลายประเทศได้ยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นหลังเกิดภัยพิบัติปี 2554 แล้ว ไต้หวันจึงต้องปฏิบัติตามและจะไม่มีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยเพราะมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ดี ไต้หวันยังคงห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์บางอย่างจาก 5 จังหวัดของญี่ปุ่น เช่น เห็ด สัตว์ป่า ส่วนผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จะต้องสำแดงผลการตรวจหารังสีและหลักฐานแสดงถิ่นกำเนิดก่อนได้รับอนุญาตให้นำเข้า และจะต้องถูกตรวจอีกครั้งเมื่อมาถึงไต้หวัน
โฆษกไต้หวันกล่าวด้วยว่า ประกาศนี้ซึ่งน่าจะมีผลในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ไม่ใช่เงื่อนไขแลกกับการที่ญี่ปุ่นจะสนับสนุนให้ไต้หวันเป็นสมาชิกซีพีทีพีพี แต่ก็หวังว่าจะมีส่วนช่วยได้ ไต้หวันสมัครเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีเมื่อปีก่อน ขณะที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นใน 11 ชาติสมาชิกซีพีทีพีพีได้แสดงท่าทีสนับสนุน ด้านหัวหน้าผู้แทนสมาคมแลกเปลี่ยนไต้หวันของญี่ปุ่น ซึ่งทำหน้าที่เสมือนเอกอัคราชทูตญี่ปุ่นประจำไต้หวันแถลงแสดงความยินดีอย่างยิ่งต่อประกาศของไต้หวัน และยกเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายมีค่านิยมร่วมกันด้านเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และการค้าที่เป็นธรรม
องค์การอนามัยโลกระบุในปี 2559 ว่า ทางการญี่ปุ่นได้เฝ้าติดตามการปนเปื้อนในอาหารอย่างใกล้ชิด และดำเนินมาตรการป้องกันเพื่อห้ามการจำหน่ายและแจกจ่ายอาหารปนเปื้อนทั้งในและนอกประเทศ หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2554 ที่ทำให้รังสีรั่วไหลที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ด้านญี่ปุ่นระบุว่า หลายประเทศได้ยกเลิกหรือผ่อนปรนมาตรการจำกัดเกี่ยวกับฟุกุชิมะ และว่าอาหารที่ผลิตในฟุกุชิมะรวมทั้งข้าวที่ปลูกในจังหวัดนี้ก็ส่งออกมายังตลาดหลายประเทศ หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย.-สำนักข่าวไทย