กรมสบส.11ก.พ.-กรมสบส.เตือนประชาชนอย่ารักสบายเรียกใช้บริการฉีดสารเสริมความงามถึงที่พัก ผิดกฎหมายและอันตราย สุ่มเสี่ยงตกเป็นเหยื่อเหล่าหมอกระเป๋า สูญทั้งเงิน แถมเจ็บตัว หากพบเห็นหรือทราบเบาะแสให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ดำเนินการโดยทันที
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ด้วยปัจจุบันที่ประชาชนสามารถเลือกรับบริการหลากหลายประเภทผ่านสมาร์ทโฟน ทำให้หลายคนมีพฤติกรรมในการรับบริการแบบส่งตรงถึงที่พัก ทั้งอาหาร ซักผ้า ทำผม ล้างรถ แต่ไม่ใช่บริการทุกประเภทจะสามารถส่งตรงถึงประชาชนได้ ซึ่งหนึ่งในบริการที่ไม่ควรเรียกใช้บริการนอกสถานที่โดยเด็ดขาด คือ บริการฉีดสารเสริมความงาม ที่อาจทำให้ต้องตกเป็นเหยื่อของเหล่าหมอกระเป๋าเสียทั้งเงิน แถมเจ็บตัว
โดย พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 กำหนดให้การศัลยกรรมเสริมความงาม ด้วยการศัลยกรรมหรือฉีดสารเสริมความงามประเภทต่าง ๆ จะต้องกระทำโดยแพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม และทำในสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น หากกระทำโดยผู้ที่ไม่มีความชำนาญ หรือทำในสถานที่ที่ไม่ได้มาตรฐานก็จะก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อผู้รับบริการ ทั้งการติดเชื้อจากเครื่องมือไม่สะอาด สารเสริมความงามที่ใช้ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สารที่ฉีดเข้าไปอุดตันหลอดเลือดทำให้เนื้อตาย ซึ่งมักพบได้บ่อยที่จมูก ร่องแก้ม หรือหากเกิดการอุดตันหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงจอประสาทตาก็จะทำให้ตาบอด อีกทั้งการที่สารเสริมความงามรั่วไหลเข้าไปในกระแสเลือด หรือผู้รับบริการมีอาการแพ้อย่างรุนแรงก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส.กล่าวว่า การเรียกตัวบุคคลมาให้บริการฉีดสารเสริมความงามในที่พักนอกจากจะเป็นอันตราย ยังมีความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ในข้อหาประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต (คลินิกเถื่อน) ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งหากผู้ให้บริการไม่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมก็จะมีความผิดตามพ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ข้อหาหมอเถื่อนระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพิ่มอีกกระทงด้วย
“หากพบเห็นการกระทำในลักษณะดังกล่าวหากอยู่ในเขต กทม.ให้รีบแจ้งมาศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรม สบส. หมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7057 หรือเฟซบุ๊ก : ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สบส. กระทรวงสาธารณสุข ส่วนภูมิภาคให้แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่เพื่อจัดการลงโทษตามกฎหมายโดยทันที” ทันตแพทย์อาคม กล่าว .-สำนักข่าวไทย