กรุงเทพฯ 5 ก.พ. – กฟผ.ร่วมมือพันธมิตรญี่ปุ่นนำระบบดิจิทัลมาทดสอบใช้บำรุงรักษาโรงไฟฟ้า ลดต้นทุน และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตั้งเป้าหมาย 10 ปี โรงไฟฟ้าเป็นดิจิทัลทั้งหมด ส่วนโรงไฟฟ้ายืดหยุ่น รับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เริ่มปรับโรงแรก “วังน้อย” ปลายปีนี้
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม หรือเนโดะ (NEDO) ประเทศญี่ปุ่น และบริษัท มารูเบนิ จำกัด ลงนามความร่วมมือนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยสนับสนุนการทำงานของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 11 และ 13 เพื่อนำมาใช้พัฒนางานด้านการเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า ยกระดับกระบวนการผลิตไฟฟ้า ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน สร้างความยั่งยืนด้านพลังงานของประเทศ รวมถึงช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานของโรงไฟฟ้าเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยจะเชื่อมต่อข้อมูลเดินเครื่องและบำรุงรักษาด้วยระบบ IoT การนำ AI มาวิเคราะห์และช่วยปรับปรุงค่า Heat Rate กรอบระยะดำเนินการ3 ปี ตั้งแต่ ปี 2563 เป็นการติดตั้งระบบ และปี 2564 – 2565 จะเป็นการทดสอบใช้งานจริง คาดว่าจะสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ยร้อยละ 0.45 เพิ่มการสร้างความเชื่อมั่นของโรงไฟฟ้าร้อยละ 1 ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 14,000 ตัน/ปี
นายณัฐวุฒิ แจ่งแจ้ง รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า กฟผ.กล่าวว่า กฟผ.ได้วางแผนให้ทุกโรงไฟฟ้าของ กฟผ.เป็นระบบดิจิทัลทั้งหมดภายใน 10 ปี เมื่อประสิทธิภาพดีขึ้นจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลง ซึ่งขณะนี้ลงทุนแล้วที่โรงไฟฟ้าจะนะและพระนครเหนือ มีทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีด้วย กฟผ.และผู้ประกอบการรายอื่น โดยจะประหยัดต้นทุนต่อโรงเบื้องต้นนับสิบล้านบาท ขณะเดียวกันเพื่อรองรับไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีเพิ่มขึ้นในประเทศไทย เช่น ระบบโซลาร์ โดยปรับให้โรงไฟฟ้าหยืดหยุ่น โดยหยุดและกลับมาผลิตได้รวดเร็วกว่าเดิม จากเดิม 6 ชั่วโมง เป็น 3 ชั่วโมง เริ่มจากโรงไฟฟ้าวังน้อย ลงทุน 140 ล้านบาทปลายปีนี้ จะติดตามข้อมูลภายใน 1 ปี หลังจากนั้นจะขยายลงทุนในโรงไฟฟ้าอื่น ๆ ต่อไป.-สำนักข่าวไทย