ทำเนียบฯ 3 ก.พ.- นายกฯ เรียกประชุมผู้ว่าฯ ทั่วประเทศผ่านระบบ Video Conference ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ เตรียมพร้อมรับคนไทยกลับจากอู่ฮ่น ย้ำ สร้างการรับรู้และความเข้าใจ ช่วยเหลือผู้ป่วย เตรียมนำนวัตกรรมหุ่นยนต์ บริการทางการแพทย์ ลดความเสี่ยงเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ในการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ คาด นำไปใช้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ และสถาบันบำราศนราดูร
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ผ่านระบบ Video Conference จากห้องปฏิบัติการ ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี ที่ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ติดตามสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมในการป้องกันควบคุมและแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ และการเตรียมพร้อมรับคนไทยกลับจากนครอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน
นายกรัฐมนตรี กล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อติดตามสถานการณ์ความคืบหน้าของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ทั้งในส่วนที่เคยปฏิบัติไปแล้ว การป้องกันและคัดกรอง การเตรียมพื้นที่เพื่อรับผู้ป่วย และรักษาพยาบาลต่างๆ ซึ่งได้มีมาตรการมาอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลต้องการให้ประชาชนเกิดการรับรู้เป็นผลสัมฤทธิ์ และรัฐบาลให้ความสำคัญในการติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด ข้อสำคัญคือ ประชาชนต้องเรียนรู้ว่า จะสามารถป้องกันตัวเองได้อย่างไร รวมถึง ช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างไรบ้าง
“สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ การสร้างความตื่นตระหนก หรือ Fake News เรื่องราวอย่างนี้ต้องไม่เกิดขึ้น เพราะทำให้เกิดความเสียหายหลายอย่าง และทุกคนก็ทราบดีอยู่แล้วว่า เศรษฐกิจมีปัญหา วันนี้หลายอย่างได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเรื่องของภาคการท่องเที่ยว โรงแรม ที่พักอาหารการกิน ต้องเห็นใจประเทศจีน ที่พยายามทำอย่างเต็มที่ จีนก็ชื่นชมการทำงานของเราที่มีประสิทธิภาพ และทางการจีนก็พร้อมจะร่วมมือกับเราในทุกมิติ และทางการจีนก็ได้ให้การสนับสนุนบางอย่างไปบ้างแล้ว และต้องให้เกียรติประเทศเพื่อนบ้านเราด้วย ซึ่งเราต้องมีกรอบความร่วมมืออาเซียน ศูนย์แพทย์ทหาร รวมถึง มิตรประเทศในภูมิภาค” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีการเตรียมความพร้อมตลอดเวลา และสิ่งสำคัญคือ ความร่วมมือร่วมใจกันในการแก้ปัญหาของคนไทยทุกคน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุมสรุปสถานการณ์ไวรัสโคโรนา นายกรัฐมนตรีได้ชมการสาธิตหุ่นยนต์ “ดินสอ” ซึ่งเป็นความร่วมมือของหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ทำหน้าที่ได้หลายอย่าง อาทิ พนักงานต้อนรับ แนะนำสินค้า และเป็นพนักงานช่วยบริการผู้ป่วย ซึ่งขณะนี้ ได้นำเข้าไปช่วยเหลือช่วยงานด้านการแพทย์ ที่ โรงพยาบาลศิริราช สามารถสั่งการผ่านโมบายแอปพลิเคชันได้
การนำหุ่นยนต์ดังกล่าวมาเสนอต่อที่ประชุมครั้งนี้ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณา เพราะมีการเตรียมนำเข้าช่วยเหลืองานด้านการแพทย์ เพื่อคัดกรองผู้ป่วยในเบื้องต้น เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสผู้ป่วยติดเชื้อ และทำหน้าที่เพื่อช่วยเหลืองานด้านการแพทย์ ที่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และหุ่นยนต์ขนาดเล็กจะนำไปไว้ที่สถาบันบำราศนราดูร .- สำนักข่าวไทย