กรุงเทพฯ 2 ก.พ.- ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอประธานวิปรัฐบาล จะชิงปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากฝ่ายค้านอภิปรายพาดพิงไปถึงรัฐบาล คสช. ชี้ไม่เป็นผลดีแสดงให้เห็นรัฐบาลคับแคบ ไม่ต้องการให้มีการตรวจสอบ
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้ facebook live จากสภากาแฟร้านโกปี้ นครศรีธรรมราช กล่าวถึงกรณีนายวิรัช รัตนเศรษฐ์ ประธานวิปรัฐบาลได้ออกมาสัมภาษณ์ถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในครั้งนี้ ถ้าฝ่ายค้านมีการอภิปรายพาดพิงถึงการทำงานของรัฐบาลในยุค คสช.นั้น อาจจะมีสมาชิกฝ่ายรัฐบาลเสนอปิดอภิปรายว่า ไม่อยากจะให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ เพราะจะสร้างรอยด่างให้เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ถ้ามีการชิงปิดการอภิปรายเกิดขึ้นจริง ก็แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลคับแคบ ใช้เสียงข้างมากขัดขวางการทำงานของพรรคฝ่ายค้าน ปิดปากไม่ให้มีการตรวจสอบรัฐบาล ถือว่าเป็นการปิดหูปิดตาประชาชนไม่ให้รับรู้การทำงานของพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายใดทั้งสิ้น
นายเทพไท กล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมฝ่ายค้าน จะสามารถอภิปรายลงลึกไปถึงผลงานรัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเหตุผล 2ประการคือ 1.การเขียนญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า เนื้อหามีรายละเอียดเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับการทำงานของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาหรือไม่ 2.การอภิปรายในประเด็นใดได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของประธานสภาผู้แทนราษฎร ในการวินิจฉัยขอบเขตเนื้อหาของญัตติว่าสามารถอภิปรายครอบคลุมถึงผลงานรัฐบาลชุดที่ผ่านมาหรือไม่ ถ้าเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิจะอนุญาตให้มีการอภิปรายได้อย่างเต็มที่ ภายใต้ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรกำหนดไว้
นายเทพไท กล่าวว่า อยากจะเสนอให้ทุกฝ่ายได้เคารพการทำหน้าที่ของกันและกัน ควรเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านได้ทำหน้าที่ตรวจสอบได้อย่างเต็มที่ ส่วนฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย ต้องเตรียมความพร้อมในการตอบคำถาม หรือข้อสงสัยจากคำอภิปรายของพรรคร่วมฝ่ายค้านให้ชัดเจน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ต้องกำชับให้รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเตรียมความพร้อมรับมือกับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่ควรตั้งอยู่บนความประมาท
นายเทพไท กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องยอมรับกติกาการตรวจสอบตามกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ในครั้งนี้ แตกต่างกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ5ปีที่ผ่านมา เพราะสมัยนั้นไม่มีการตรวจสอบจากสภานิติบัญญัติเลย แต่วันนี้สถานะของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากเลือกตั้งของประชาชน จึงต้องเคารพการทำงานของทุกฝ่ายตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้.-สำนักข่าวไทย