กรุงเทพฯ 30 ม.ค.- สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ขอความร่วมมือสมาชิกทั้งหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ นำเสนอข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อ “ไวรัสโคโรนา” โดยคำนึงถึงแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤติ
ตามที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus) โดยแหล่งที่มาของโรคอยู่ที่เมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน และพบว่าผู้ติดเชื้อได้เดินทางไปยังหลายพื้นที่ของโลก จนส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาแล้วหลายประเทศรวมทั้งในประเทศไทย สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนอย่างมาก และสื่อมวลชนทุกสำนักต่างนำเสนอข้อมูลต่างๆ จนบางครั้งอาจส่งผลให้เกิดความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง และสร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
คณะกรรมการจริยธรรม สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จึงขอความร่วมมือมายังสื่อมวลชนที่เป็นสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ทั้งหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ ให้เสนอข่าวตาม “แนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤติ” ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพ ซึ่งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้ให้การรับรองแล้ว เพื่อให้การปฏิบัติงานของสมาชิกเป็นไปตามมาตรฐานจริยธรรม และสามารถทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูล ข้อเท็จจริงตามหลักสิทธิเสรีภาพบนความรับผิดชอบ เพื่อเฝ้าระวัง เตือนภัย ไม่สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชน อันจะนำไปสู่การบรรเทาความเสียหายและคลี่คลายวิกฤติการณ์ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
“ภาวะวิกฤติ” หมายถึง สถานการณ์ที่เข้าสู่ภาวะที่จำเป็นต้องเข้าจัดการเพื่อหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพ ชีวิต ทรัพย์สิน สิทธิ หรือเสรีภาพของประชาชนในวงกว้าง โดยหมายรวมถึงภัยพิบัติ เหตุฉุกเฉิน สาธารณภัย หรือ ภัยคุกคามที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ที่มีความรุนแรง อันเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก หรือ กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
“สถานการณ์โรคและภัยสุขภาพ” หมายถึง สถานการณ์ที่เกิดโรคติดต่อหรือโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคแน่ชัด ซึ่งอาจแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วหรือมีภาวะของการเกิดโรคมากผิดปกติกว่าที่เคยเป็นมา รวมถึงโรคติดต่ออุบัติใหม่-อุบัติซ้ำ ภัยสุขภาพ หรือภาวะที่มีมลพิษในอัตราสูงที่ส่งผลกระทบหรืออันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชน
ในการการปฏิบัติงานในสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพนั้น
– ผู้ปฏิบัติงานข่าวต้องปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคหรือการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพที่กำหนดโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และไม่กระทำการใดที่จะทำให้ตนกลายเป็นผู้ประสบภาวะวิกฤติ
– ผู้ปฏิบัติงานข่าวต้องเคารพสิทธิของผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วยตามกฎหมาย ทั้งความเป็นอยู่อย่างสงบ สิทธิความเป็นส่วนตัว สิทธิมนุษยชน โดยไม่นำเสนอภาพ ข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยอันเป็นความลับส่วนบุคคลที่อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับความเสียหาย เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
– ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงระมัดระวังการสร้างความตื่นตระหนกจากการนำเสนอโดยการคาดเดา หรือไม่ได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์หรือหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับสาเหตุการแพร่ระบาดของโรคหรือสถานการณ์ภัยสุขภาพ รวมถึงวิธีการป้องกัน แก้ไข และรักษา.-สำนักข่าวไทย