สธ.28 ม.ค.-กรมวิทยาศาสตร์ฯ เตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติการ รับมือสถานการณ์ระบาดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยให้บริการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างสงสัยติดเชื้อที่เข้าเกณฑ์การคัดกรองของกรมควบคุมโรค ซึ่งสามารถตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อได้อย่างแม่นยำ มีความจำเพาะสูง เชื่อถือได้-รู้ผลภายใน 3 ชั่วโมงหลังจากได้รับตัวอย่าง
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การตรวจวิเคราะห์สารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ด้วยเทคนิค Real-Time RT-PCR (rRT- PCR) ใช้เวลาตรวจวิเคราะห์และรู้ผลภายใน 3 ชั่วโมงหลังจากห้องปฏิบัติการได้รับตัวอย่าง หากผลการตรวจเป็นลบ สามารถรายงานผลได้ทันที อย่างไรก็ตามกรณีผลลบอาจเกิดจากตัวอย่างที่ไม่เหมาะสมหรือด้อยคุณภาพ ได้แก่ ตำแหน่งที่เก็บสิ่งส่งตรวจไม่สัมพันธ์กับพยาธิสภาพของโรค หรือระยะเวลาที่เก็บห่างจากวันเริ่มป่วยมากเกินไป เจ้าหน้าที่จึงควรทบทวนคำแนะนำการเก็บและนำส่งสิ่งส่งตรวจพร้อมกับเก็บตัวอย่างใหม่ส่งตรวจซ้ำ แต่หากผลการตรวจเป็นบวกจะดำเนินการตรวจยืนยันอีกครั้งด้วยการตรวจลำดับนิวคลิโอไทด์ (Nucleotide sequencing ) ใช้เวลาในการตรวจวิเคราะห์ 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยให้การสรุปผลการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อ nCoV 2019 มีความชัดเจนและเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนรักษา
การเก็บและนำส่งตัวอย่าง กรณีพบผู้มีอาการเข้าข่ายสงสัยในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ให้แจ้งกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 โดยเร็วที่สุดและปฏิบัติตามคำแนะนำการเก็บตัวอย่างผู้ป่วยที่สงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยและเพื่อให้ได้ตัวอย่างที่เหมาะสมสำหรับการตรวจวิเคราะห์ ที่ถูกต้องแม่นยำ เป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนโรค และการรักษา สามารถควบคุมป้องกันโรคได้อย่างทันที ติดต่อส่งตัวอย่างได้ที่ศูนย์ประสานงานการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการ (ศปส.)สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.นนทบุรี ในเวลาราชการ โทร. 0-2591-2153 และนอกเวลาราชการ โทร. 089-3184596 หรือ 081-7518634 ตลอด 24 ชั่วโมง
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ทางกรมฯพร้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขทั่วประเทศในระยะแรกพัฒนาเครือข่ายห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ส่วนภูมิภาค ได้แก่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง ให้บริการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคนิค Real-Time RT-PCR ควบคู่ไปกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข (ส่วนกลาง)และในระยะต่อไป กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำหนดแผนขยายการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ โดยให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจยืนยันได้โดยตรงหลังจากการประเมินระยะแรก เพื่อให้สามารถรายงานผลได้อย่างรวดเร็ว ลดค่าใช้จ่ายและผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม.-สำนักข่าวไทย