กรุงเทพฯ 21 ม.ค. – เผยยอดส่งออกอาหารไทยปี 62 ติดลบร้อยละ 3.8 ตามภาวะเศรษฐกิจโลกและเงินบาทแข็งค่า คาดปี 63 ติดลบร้อยละ 0.3 ถึงบวกร้อยละ 3.5
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสถาบันอาหาร ร่วมแถลง “สถานการณ์ธุรกิจเกษตรและอาหารในปัจจุบันแนวโน้มในอนาคต” นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ปี 2562 ดัชนีอุตสาหกรรมอาหารของไทยลดลงร้อยละ 2 ครั้งแรกในรอบ 5 ปี การใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 57.8 ลดลงจากปีก่อนที่ใช้กำลังการผลิตร้อยละ 58.7 เนื่องจากการบริโภคในประเทศอ่อนตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ รายได้ครัวเรือนลดลง อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการส่งออกลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง รวมทั้งยังมีผลกระทบจากการที่เงินบาทแข็งค่าที่กระทบราคาส่งออกสินค้าอาหารลดลงกระทบต่อรายได้เข้าประเทศ
ทั้งนี้ ยอดรวมการส่งออกอาหารของไทยปี 2562 มีมูลค่ารวม 1.02 ล้านล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 3.8 แต่ขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.2 ในรูปเงินดอลลาร์ ด้วยมูลค่า33,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย คือ จีน ซึ่งเป็นครั้งแรก ด้วยมูลค่า 150,749 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 แทนที่กลุ่มประเทศ CLMV การส่งออกของไทยหากเทียบกับประเทศคู่แข่งใน 20 อันดับแรกของโลก ส่วนใหญ่ส่งออกลดลง ทำให้อันดับ 20 ประเทศส่งออกอาหารโลกปี 2562 ของไทยอันดับดีขึ้น มาเป็นอันดับที่ 11 จากเดิมอยู่ในอันดับที่ 12 ของโลก
ส่วนแนวโน้มปี 2563 คาดว่าการส่งออกรูปดอลลาร์สหรัฐจะมีมูลค่าประมาณ 34,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ส่วนมูลค่าส่งออกในรูปเงินบาทยังคงขึ้นอยู่กับทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ซึ่งในกรณีเงินบาทแข็งค่าที่ระดับ 29.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกมีโอกาสหดตัวลงร้อยละ 0.3 มูลค่าส่งออกอยู่ในช่วง 1.02 ล้านล้านบาท แต่ถ้าหากเงินบาทอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ระดับ 30.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 3.5 มูลค่าส่งออกจะทำได้เป็น 1.06 ล้านล้านบาท
สำหรับปัจจัยบวก ได้แก่ เศรษฐกิจโลกปีนี้ค่อย ๆ ฟื้นตัวจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ลดความตึงเครียดลง จีนมีความต้องการนำเข้าสินค้าอาหารจำพวกเนื้อสัตว์มากขึ้นหลังเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร และมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่กำลังจะจีดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงครึ่งปีหลัง จะทำให้เกิดความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น และปัจจัยบวกในประเทศ คือ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการได้รับแรงหนุนจากแผนงานของรัฐบาลปี 2563 ส่วนปัจจัยเสี่ยง คือ ต้นทุนการผลิตการขนส่งจากราคาน้ำมันที่มีสงครามสหรัฐและอิหร่าน ความไม่แน่นอนของ BREXIT และภัยแล้ง รวมถึงจีเอสพีของไทยบางรายการได้รับผลกระทบจากสหรัฐตัดสิทธิ์บางรายการแต่ไม่มาก และคนนิยมทานผักผลไม้เป็นหลักไม่ทานเนื้อสัตว์เป็นแนวโน้มต่อปศุสัตว์ของไทยได้
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ส.อ.ท. กล่าวว่า ไทยต้องหาโอกาสเพิ่มจากการที่เงินบาทแข็งค่า แต่ด้านการนำเข้าเครื่องจักรนั้น เอสเอ็มอีไม่สามารถนำเข้าได้เอง ทำให้มูลค่าเครื่องจักรไม่ถูกลงแม้เงินบาทจะอ่อนค่าลง หวังว่าปีนี้สถานการณ์สงครามการค้าจะคลี่คลายลงโดยเฉพาะการเจรจาของสหรัฐและจีนรอบที่ 2 และหวังว่าการส่งออกประเทศกลุ่มอาหารในประเทศเอเชียจะมากขึ้นได้ทดแทนกลุ่มตลาดสหรัฐและยุโรปที่ยอดส่งออกลดลง
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ ส.อ.ท. กล่าวว่า ภัยแล้งกระทบผลผลิตทางการเกษตร จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร โดยเปิดให้สามารถนำเข้าสินค้าอาหารบางรายการ เพื่อทดแทนการผลิตในประเทศที่ไม่เพียงพอ ซึ่งจะช่วยให้การผลิตเพื่อส่งออกยอดไม่ตกลง โดยต้องแยกให้ชัดเจนระหว่างนำเข้าเพื่อผลิตแล้วส่งออก กับการนำเข้าเพื่อการบริโภคในประเทศ .-สำนักข่าวไทย