กรุงเทพฯ 20 ม.ค. – กรมธุรกิจพลังงาน วอนคนไทยเพิ่มยอดใช้ บี 10 – บี20 ลดฝุ่น PM2.5 ได้ร้อยละ 3.5-25 ด้าน โรงกลั่นฯเตรียมลงทุน 5 หมื่นล้านบาท ปรับมาตรฐานเป็นยูโร 5 คาดการใช้น้ำมันปีนี้ยังพุ่งต่อเนื่อง ภาพรวมร้อยละ 2 ตามจีดีพี ขยายตัวร้อยละ 2.8 – 3
จากตัวเลขกรมควบคุมมลพิษที่รายงานว่า ฝุ่น PM 2.5 ในไทย ปัญหาหลัก หรือกว่าร้อยละ 70 มาจากการจราจรบนท้องถนนนั้น น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กล่าวว่า ในส่วนของคุณภาพน้ำมัน การใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี 10 และ บี 20 จะมีส่วนช่วยในการลดฝุ่น PM2.5 โดยบี 10 จะช่วยลดฝุ่นได้ร้อยละ 3.5-13.5 และ บี 20 จะลดฝุ่นได้ ร้อยละ 20-25 ซึ่งตามนโยบายส่งเสริมบี 7 เป็นน้ำมันพื้นฐานของกลุ่มดีเซลตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไปนั้น ก็จะทำให้ปั๊มขาย บี 10 เพิ่มขึ้น โดยขณะนี้มี 800 แห่งและจะเพิ่มเป็น 3,000 แห่งในสิ้นเดือน มกราคมนี้ และยอดใช้จะเพิ่มขึ้น 0.1 ล้านลิตร/วัน ในสิ้นปี 2562 เป็น 22.5 ล้านลิตร/วันในไตรมาส 1/63 และจะเพิ่มเป็น 57 ล้านลิตร/วัน ในปลายปีนี้ ในขณะที่ กลุ่มดีเซลทั้งหมดยอดใช้สิ้นปี 63 จะเพิ่มเป็น 71.6 ล้านลิตร/วัน จากปี 62ที่ 67.3 ล้านลิตร่อวัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 ซึ่งนับเป็นยอดใช้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งคาดว่ายอดใช้บี 7 และ บี 20 จะมียอดใกล้เคียงกันที่ 7.3 ล้านลิตร/วัน และในส่วนของมูลค่าส่งเสริมบี 20 ในปี 2562 ที่มีการอุดหนุนราคาให้ต่ำกว่า บี 7 ในอัตรา 3 – 5 บาทต่อลิตรนั้น ก็พบว่ามียอดวงเงินอุดหนุนรวม 6,200 ล้านบาท
“การใช้บี10 บี 20 ช่วยลด PM 2.5 และ ช่วยส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม โดยในปี 2563 คาดว่าจะดูดซับซีพีโอของประเทศ ได้ 2 ใน 3 ส่วน หรือราวปีละ 2-2.2 ล้านตัน ดูแลราคาผลปาล์มดิบไม่ต่ำกว่า 4 บาท/ กก. ซึ่งขณะนี้แม้ปาล์มจะมีราคาสูง แต่เดือน มี.ค.ยอดผลปาล์มดิบจะทยอยออกมา ก็คาดว่าจะราคาต่ำลง ในขณะที่สตอกซีพีโอสิ้นปี 62 อยู่ที่ 3.3 แสนตัน โดยในวันพุธนี้ ทาง นายวนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงานก็จะมีการแถลงมาตรการป้องกันการลักลอบนำเข้าซีพีโอมาใช้ผลิตบี 100 เพื่อให้ประโยชน์อยู่ที่เกษตรกรคนไทย”อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน
ส่วนการปรับคุณภาพน้ำมันของโรงกลั่นน้ำมันที่จะช่วยลดฝุ่นนั้น ที่จะปรับจากมาตรฐานยุโรประดับที่ 4 (ยูโร4 ) เป็นยูโร 5 นั้น ทุกโรงกลั่นในขณะนี้ วางแผนปรับมาตรฐาน ตามข้อกำหนด คือ 1 ม.ค.2567 โดยจากการหารือกับ 6 โรงกลั่น ฯ ทั้งไทยออยล์ฯ,บางจากฯ, เอสพีอาร์ซี , จีซี,ไออาร์พีซี ,เอสโซ่ , จะมีการลงทุนรวม 5 หมื่นล้านบาท ส่วนจะมีผลต่อต้นทุนราคาน้ำมันขายปลีกมากน้อยเพียงใด นั้น ทางกระทรวงพลังงานกับ ผู้ประกอบการโรงกลั่นฯอยู่ระหว่างหารือร่วมกันรวมถึงการหารือเรื่องการลดชนิดน้ำมันหัวจ่ายจาก 10 ชนิดที่ไทยมีมากที่สุดในโลกจะลดประเภทใด ก็คงจะชัดเจนในไตรมาส 1 ปีนี้ ซึ่งคงจะต้องดูถึงชนิดรถยนต์ของประชาชน ควบคู่กันไปด้วย โดยยอมรับว่าไม่ว่าจะยกเลิกน้ำมันประเภทใดก็จะกระทบทั้งโรงกลั่นฯที่อาจจะต้องนำเข้า-ส่งออกน้ำมันพื้นฐานแต่ละประเภทเพิ่มขึ้น โดยในปี 2562 นั้น พบว่า ไทยมีการนำจีเบส ทุกประเภทรวม 2,200 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น จากปี 2561 ที่นำเข้า 1,567 ล้านลิตร
อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน คาดว่า ยอดใช้น้ำมันรวมปี 2563 คาดว่าจะโตกว่าปี 2562 ที่ร้อยละ 2 หรือมียอดใช้เฉลี่ย 132.ล้านลิตร/วัน จากคาดการณ์ของหน่วยงานต่างๆที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 63 จะขยายตัวร้อยละ 2.8-3 และราคาน้ำมันทรงตัวที่ 65-70 ดอลลาร์สหรัฐ/บารเรล โดยในกลุ่มเบนซินจะขยายตัวร้อยละ 3.7 หรือมียอดใช้รวม 33.4 ล้านลิตร/วัน จากปี 2562 ที่มียอดใช้ 32.2 ล้านลิตร/วัน กลุ่มดีเซล ขยายตัวร้อยละ 6.3 หรือมียอดใช้ 71.6 ล้านลิตร/วัน เพิ่มจากปี 62 ที่มียอดใช้67.3 ล้านลิตร/วัน น้ำมันอากาศยานจะขยายตัว ร้อยละ 7.4 มียอดใช้ 20.8 ล้านลิตร/วัน ในขณะที่ปี 62 มียอดใช้ 19.3 ล้านลิตร/วัน ยอดใช้ก๊าซหุงต้มปี 63 คาดลดลงร้อยละ 1.9 คาดยอดใช้ อยู่ที่17.5 ล้านกก./วันจากปี 62 ที่มียอดใช้ 17.8 ล้าน กก./วัน ส่วนยอดใช้เอ็นจีวีปี 63 คาดว่าจะอยู่ที่5 ล้าน กก./วัน จะลดลงร้อยละ 7.4 จากปี 62 ที่มียอดใช้ 5.4 ล้าน กก./วัน โดยปั๊มเอ็นจีวีสิ้นปี 62 อยู่ที่ 446 แห่ง จากสิ้นปี 2561 อยู่ที่ 451 แห่ง โดยปั๊มเอ็นจีวีไม่ได้ปิดตัวเพิ่มขึ้นนักเนื่องจาก มีการปรับเปลี่ยนหัวจ่ายบางส่วนไปขายน้ำมันบี 10 และบี 20 ส่วนปั๊มแอลพีจีสิ้นปี 62 มีจำนวน 1,899 แห่ง จากสิ้นปี 2561 อยู่ที่ 2,019 แห่ง . – สำนักข่าวไทย