กรุงเทพฯ 16 ม.ค. – รมช.เกษตรฯ เตรียมเสนอตั้งตลาดรับซื้อน้ำยางสดและโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา ใช้กลไกประชารัฐส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศ นำร่อง จ.พะเยา บุรีรัมย์ เพื่อยกระดับราคายางพารา
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รับนโยบายจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายกระทรวงเกษตรฯ หาแนวทางเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศและประสานกระทรวงต่าง ๆ ดำเนินโครงการใช้ยางพาราในหน่วยงานรัฐ เพื่อแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เบื้องต้นให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดทำตลาดรับซื้อน้ำยางสดที่จังหวัดพะเยาเป็นที่แรก เพื่อปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตยางพาราของเกษตรกร จากเดิมชาวสวนยางพาราภาคเหนือจำหน่ายในรูปแบบยางก้อนถ้วยซึ่งมีราคาถูก อีกทั้งสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม คือ มีกลิ่นเหม็นและมีมลพิษต่อแหล่งน้ำ ดังนั้น หากมีตลาดรับซื้อน้ำยางสดภาคเหนือจะช่วยให้เกษตรกรขายยางพาราได้ในราคาที่สูงขึ้น เรียกว่า “พะเยาโมเดล” จากนั้นจะขยายโครงการก่อสร้างโรงงานแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า
ทั้งนี้ ภาคเหนือมีเกษตรกรผู้ปลูกยาง 29,929 ราย ใน 15 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร ตาก แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน พะเยา ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ และเชียงราย รวม 895,396 ไร่ ซึ่งการใช้กลไกประชารัฐแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบ ได้แก่ การถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิตยางพารา กระตุ้นให้มีการประดิษฐ์คิดค้น/ปรับปรุง พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ยางพาราท้องถิ่น ให้เป็นที่รู้จักแก่ภาคอื่น ๆ และพัฒนาช่องทางการตลาด รวมถึงธุรกิจต่อเนื่องเพื่อพัฒนายางพาราทั้งระบบในอนาคต ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะสร้างตลาดรับซื้อน้ำยางสดและโรงงานแปรรูปยางพาราที่จังหวัดบุรีรัมย์นำร่อง
“ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้มอบหมายเลขาธิการ ส.ป.ก. แก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำในพื้นที่ ส.ป.ก.ทั่วประเทศด้วย ซึ่งการดำเนินหลายมาตรการไปพร้อมกันตามกลไกประชารัฐจะสามารถแก้ปัญหายางพาราตกต่ำทั้งระบบได้ ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้นและประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน” ร.อ. ธรรมนัส กล่าว.-สำนักข่าวไทย