ก.ยุติธรรม 27 ธ.ค.-ยธ.ลงนามร่วม สธ.ศึกษาวิเคราะห์แนวทาง-ผลกระทบการถอดพืช “กระท่อม” ออกจากยาเสพติดให้โทษ พร้อมพิจารณาปลด “กัญชา” จากบัญชียาเสพติด ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม(ยธ.) พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการศึกษาวิเคราะห์แนวทางและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการถอดพืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษ หลังวิเคราะห์พบส่งผลต่อร่างกายน้อย พร้อมพิจารณาถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ หวังใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ประชาชน กระทรวงยุติธรรม
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับบันทึกข้อตกลงเพื่อยกเลิกพืชกระท่อม และพิจารณายกเลิกพืชกัญชาจากยาเสพติดให้โทษ เป็นการกำหนดขอบเขตความร่วมมือระหว่าง 2 กระทรวง โดยเน้นพิจารณา เสนอแนะแนวทาง รวมถึงรวบรวมข้อมูลกฎหมายและข้อมูลทางวิชาการเสนอต่อรัฐบาลเพื่อประกอบการเสนอร่างกฎหมายเพื่อการยกเลิกพืชกระท่อม ออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5
นอกจากนี้ยังศึกษาสภาพปัญหาแนวทางการยกเลิกพืชกัญชาจากกฎหมายเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ อีกทั้งพิจารณา ให้ความเห็นแนวทางการสนับสนุนให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนใช้ยาจากพืชกัญชาอย่างถูกต้อง รวมถึงกำหนดมาตรการการควบคุมที่เหมาะสมกับสังคมไทย
ทั้งนี้การยกเลิกพืชกระท่อม และพิจารณาถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด เป็นไปตามที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนในการศึกษาวิจัยและพัฒนาการใช้กัญชา พืชสมุนไพรในทางการแพทย์ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้ ของประชาชน ยธ.ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการบังคับใช้กฎหมาย ยืนยันจะทำงานอย่างรัดกุม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนในทุกๆ มิติ ส่วนกรอบระยะเวลาในการปลดล็อก ไม่สามารถตอบได้เพราะเป็นกลไกของระบบรัฐสภาที่จะพิจารณา แต่ยืนยันจะพยายามดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อประโยชน์กับทุกฝ่าย
สำหรับข้อสงสัยเรื่องผู้กระทำผิดและโดนลงโทษเรื่องกระท่อม หากมีการปลดล็อก จะมีนิรโทษกรรมคนกลุ่มนี้หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่ขอพูดถึง รอให้มีการพิจารณาผ่านก่อน ส่วนการแก้ไขกฎหมายไม่ใช้เวลานานก็สามารถทำได้
ขณะที่นายอนุทิน กล่าวว่า การลงนามร่วมครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่ประโยชน์เรื่องการแพทย์เท่านั้น ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่วัตถุประสงค์อย่างอื่นอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ กระท่อมมีโอกาสปลดล็อกได้ง่ายกว่า เพราะไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นพืชเสพติดให้โทษ หากมีการปลดล็อกไม่ได้หมายความว่าทุกบ้านทุกที่จะปลูกได้อย่างอิสระ ยังคงต้องมาขออนุญาตจากภาครัฐ เพื่อบันทึกข้อมูล ถือว่าเป็นการทำเรื่องที่เคยอยู่ใต้ดินให้อยู่บนดินอย่างถูกต้อง และอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้เชี่ยวชาญ
ส่วนเรื่องการปลดล็อกกัญชา ในประเทศไทยสามารถทำได้จริงหรือไม่ เนื่องจากติดอนุสัญญายาเสพติดขององค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ที่ไทยได้ทำไว้ นายอนุทิน กล่าวว่า หากปลดล็อกเพื่อใช้ทางการแพทย์ไม่ขัดต่อระเบียบของยูเอ็น สามารถทำได้ แต่หากปลดล็อกเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์อื่นก็งไม่ทำ ยืนยันจะเดินหน้าเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น และจะรีบดำเนินการทั้ง2 เรื่อง คือกระท่อมและกัญชา ในระยะ เวลาที่สั้นที่สุด.-สำนักข่าวไทย