กรุงเทพฯ 25 ธ.ค. กนอ.เผยผลงานปีงบประมาณ 2562
ดึงเม็ดเงินต่างชาติลงทุนได้รวม 30,527 ล้านบาท ยอมรับ ลดลงจากปีงบประมาณ 2561
ที่มียอดรวมสูงกว่าด้วยเม็ดเงินรวม 39,731 ล้านบาท แต่เชื่อปีงบประมาณ 2563 ยังขยายตัวได้ร้อยละ
5 โดยเฉพาะกลุ่ม S-Curve ที่จะมีการลงทุนมากขึ้นในอีอีซี
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก
ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) แถลงผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2562
ว่า ผลการดำเนินงานน่าพอใจโดย กนอ.ช่วยให้เกิดการลงทุนในภาพรวมของประเทศ 30,527.54
ล้านบาท แม้ว่ามูลค่าการลงทุนที่เกิดขึ้นจะลดจากปี 2561 ร้อยละ 23 ที่มียอดการลงทุนรวม
39,731 ล้านบาท แต่สำหรับกนอ. ถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีมาก
เนื่องจากปีนี้มีปัญหาผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวและสงครามการค้า
สำหรับนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนมากเป็นอันดับ 1
ยังเป็นสัญชาติญี่ปุ่น ลงทุนจำนวน 35 แห่ง จีนลงทุนเพิ่มขึ้นมากและเป็นอันดับที่ 2
ลงทุนรวม 18 แห่ง อันดับ 3 คือ นักลงทุนจากฮ่องกง เข้ามาลงทุนรวม 10
แห่งและอันดับที่ 4 คือ นักลงทุนสัญชาติ มาเลเซีย ตามด้วยอันดับ 5 คือ
นักลงทุนจากสหรัฐ
ส่วนแนวโน้มในปี 2563 ตั้งเป้าหมายว่า การลงทุนจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5
โดยปัจจัยที่จะส่งผลต่อการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมได้แก่ความกังวลปัญหาเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศที่ตกต่ำ
ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐที่มีผลทั้งด้านบวกและลบต่อประเทศไทย
การแข็งค่าของเงินบาท แต่ กนอ.ยังเชื่อมั่นว่า แนวโน้มการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ
มีความต่อเนื่องและจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลัก 5
โครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) มีการลงนามสัญญาครบทั้งหมด การลงทุนจะเน้นกลุ่มอุตสาหกรรม
S-Curve ได้แก่
ยานยนต์สมัยใหม่ ปิโตรเคมี ซึ่งทาง กนอ.จะปรับเปลี่ยนการอนุมัติ อนุญาต
สู่ระบบดิจิทัล และกนอ.ยังลงนามกับบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน)
ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและสมาร์ทปาร์ค ที่มีการลงทุน 5G จะเปิดได้ในปี 2565 แล้ว
และเพื่อรองรับเทคโนโลยีอนาคต ยังเตรียมความพร้อมขยายและพัฒนาอีกขั้นไปสู่ ระบบ 6G ไว้รองรับแล้ว
ด้านการปิดโรงงาน พบว่า ในช่วงต้นปี 2562
มีโรงงานปิดลงจริง แต่ถือว่า
เป็นสถานการณ์ปกติและเป็นโรงงานขนาดเล็กที่เข้ามาทดลองตลาดและเห็นว่าไปต่อไม่ได้
โดยมีการปิดตัวลงรวม 41 แห่ง จำนวนคนงาน ตกงานประมาณ 2,000 คนเท่านั้น
สำหรับโครงการลงทุนปิโตรเคมีที่เป็นแอดวานซ์เทคโนโลยี
การจะลงทุนเฉพาะในพื้นที่อีอีซี อาจไม่เหมาะสม
พื้นที่จำกัดไม่สามารถหาพื้นที่แปลงใหญ่ที่จะรองรับโครงการขนาดใหญ่ๆ ได้เพิ่มขึ้น
กนอ. จึงว่าจ้างสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ศึกษาการขยายพื้นที่รองรับโครงการลงทุนปิโตรเคมีควรจะเป็นพื้นที่บนดินหรือการถมทะเล
ซึ่งเบื้องต้นทาง กนอ.เห็นว่า ถ้าหากขยายพื้นที่โดยวิธีการถมทะเลรองรับการลงทุนได้จะช่วยลดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นดิน
อย่างไรก็ตาม ต้องรอผลสรุปการศึกษาให้แล้วเสร็จก่อน
โดยการศึกษาจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563
ยอมรับว่า มีความล่าช้าจากเดิมเล็กน้อย.-สำนักข่าวไทย