ก.คมนาคม 23 ธ.ค.-กระทรวงคมนาคมสรุปแนวทางยุติข้อพิพาท เตรียมขยายอายุสัญญาสัมปทาน BEM อีก 15 ปี 8 เดือน สิ้นสุด 31 ต.ค.2578 แลกจ่ายค่าโง่กว่า 1.3 แสนล้านบาท เตรียมเสนอ ครม.เห็นชอบ 24 ธ.ค.นี้
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้สรุปแนวทางยุติข้อพิพาททางด่วนระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) แล้ว คือ จะให้มีการขยายอายุสัญญาสัมปทานออกไปอีก 15 ปี 8 เดือน โดยสัญญาระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ( A, B, C) ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นสิ้นสุด 31 ตุลาคม 2578 ส่วนทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ที่จะสิ้นสุดวันที่ 22 เมษายน 2570 และโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (C+) ที่จะสิ้นสุด 27 กันยายน 2569 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม 2578 เช่นกัน โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องยุติข้อพิพาทระหว่างกันทั้งหมด ทั้งที่ศาลตัดสินไปแล้วรวมถึงอยู่ระหว่างพิจารณาคดีที่ BEM มีการฟ้องร้อง 15 คดี ส่วน กทพ.ฟ้องร้อง 2 คดี คิดเป็นมูลค่าหนี้ 137,517 ล้านบาท
ทั้งนี้ แนวทางการขยายอายุสัญญาสัมปทานได้กำหนดให้ BEM สามารถปรับขึ้นค่าผ่านทางได้ปีละ 1 บาท แต่จะปรับขึ้นได้เพียงครั้งเดียว คือ ปี 2573 หรือขึ้นค่าผ่านทาง 10 บาท ส่วนที่อีก 5 ปี 8 เดือนไม่ให้ปรับขึ้นนอกจากนี้ BEM ยินดีให้ความร่วมมือยกเว้นค่าผ่านทางทุกด่านตามวันหยุดประจำปีตามประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรีประมาณ 19 วันต่อปีตลอดอายุสัมปทาน โดยบริษัทไม่ได้ขัดข้องแนวทางยุติข้อพิพาทข้างต้น อย่างไรก็ตาม การระงับข้อพิพาทดังกล่าวยังกำหนดการจ่ายผลตอบแทนตามเดิม คือ แบ่งสัดส่วนรายได้ให้ กทพ. ร้อยละ 60% และ 40% ในสัญญา A และ B ส่วนสัญญา C+ BEM ได้ค่าตอบแทนทั้ง 100%
ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงคมนาคม ระบุว่า วันพรุ่งนี้ (24 ธ.ค.) กระทรวงคมนาคมจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางดังกล่าว หาก ครม.เห็นชอบจะมีการแจ้งให้ BEM รับทราบ เพื่อนำไปเจรจาให้ได้ข้อยุติภายในบริษัท หลังจากนั้นจะส่งให้คณะกรรมการตามมาตรา 43 เห็นชอบก่อนส่งให้อัยการสูงสุดตรวจสอบร่างสัญญา และนำเสนอกลับมาที่กระทรวง เพื่อเสนอให้ ครม.เห็นชอบต่อไป ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะเร่งเดินหน้าให้ทันภายในเดือนมกราคม 2563 ก่อนที่จะลงนามสัญญาภายในเดือนกุมภาพันธ์ . 2563 เนื่องจากสัญญาแรกจะสิ้นสุดวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 อย่างไรก็ตาม หากดำเนินการไม่ทันอาจจะต้องจ้าง BEM บริหารจัดการไปก่อน
“แนวทางข้างต้นมีการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว เชื่อว่าทั้งประชาชน รัฐบาล รวมถึงเอกชนได้ประโยชน์จากแนวทางนี้ ซึ่งสามารถลดมูลค่าหนี้ที่จะเกิดถึง 137,517 ล้านบาท เหลือ 58,873 ล้านบาท” นายชัยวัฒน์ กล่าว
นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า ได้ทำความเข้าใจกับกลุ่มสหภาพ กทพ.เรียบร้อยแล้ว หลังที่มีการคัดค้าน และยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไม่ให้ขยายอายุสัญญาสัมปทาน แต่อาจจะมีพนักงานบางส่วนที่ยังไม่มีความเข้าใจ หลังจากนี้จะมีการทำความเข้าใจต่อไปว่าเป็นความจำเป็นของนโยบายรัฐและประโยชน์แก่ประชาชน
ทั้งนี้ การเจรจาที่ผ่านมาตั้งเป้าว่าจะต้องยุติข้อพิพาทแนวทางที่ 2 คือ เอกชนไม่ได้ขัดข้องแนวทางยุติข้อพิพาท และจะไม่นำการลงทุนโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 หรือ Double Deck เพราะโครงการนี้ยังไม่ผ่านการพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งจะเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และไม่ใช้โครงการข้อพิพาท . – สำนักข่าวไทย