สำนักข่าวไทย 21 ธ.ค.-นักวิชาการด้านเด็ก มองปัญหาอาม่าตบเด็กในโรงเรียน สะท้อนสังคมไทยกับเรื่องความรุนแรง จากการที่คนในปัจจุบันขาดการปฏิสัมพันธ์ พูดคุยกันน้อยลง เพราะใช้เวลาอยู่กับเทคโนโลยีมาก ส่งผลให้เคยชินกับการอยู่คนเดียวและอดทนได้น้อยลง
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์อาม่าตบเด็กนักเรียนภายในโรงเรียนเอกชนชื่อดังว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ เราไม่ได้เห็นภาพตั้งแต่ต้นจนจบ ได้ดูภาพเฉพาะที่มีอยู่ในคลิปที่มีการแชร์ลงบนโซเชียล แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่เริ่มก่อน ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควร ซึ่งในต่างประเทศกฏหมายชัดเจน ใครเริ่มลงมือก่อน คนนั้นผิด สรุปคือ 1.ปัญหาไม่ควรจะเริ่มก่อน
2.สะท้อนสังคมที่ใช้ความรุนแรงต่อกันมากขึ้นทุกวันเพราะอยู่กับคนกันเองด้วยกันน้อยลง อยู่กับเทคโนโลยี มือถือ อินเทอร์เน็ตมาก ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์น้อยลง อดทนต่อกันน้อยลง หงุดหงิดง่าย อย่างครอบครัวอยู่บ้านด้วยกัน มีมือถือ คนละเครื่อง ต่างคนต่างอยู่กับมือถือ ความผูกพันก็น้อยลง และเวลาออกไปที่อื่น ก็เป็นกันแบบนี้ อยู่กับมือถือ เวลาใครเสียงดัง ก็จะทนไม่ได้ รำคาญ หนวกหู
“ต้องให้ความสำคัญกับการเอาตัวเองออกไปอยู่กับคนด้วยกันมากขึ้น เพราะเห็นแล้วว่าขาดกิจกรรมสัมพันธ์ ต้องกลับมาอยู่มนุษย์กับมนุษย์มากขึ้น ปัญหาต่างๆจะมีน้อยลง” นายวัลลภ กล่าว .-สำนักข่าวไทย