กรุงเทพฯ 21 ธ.ค.- กสิกรไทยคาดสัปดาห์สุดท้ายก่อยปิดปีใหม่ กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.10-30.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,565 และ 1,555 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,590 และ 1,600 จุด ตามลำดับ
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบตลอดสัปดาห์ โดยอ่อนค่าช่วงสั้นๆ ในช่วงต้นสัปดาห์ก่อนการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน ( กนง.) ซึ่งมีจุดสนใจอยู่ที่การทบทวนประมาณการเศรษฐกิจและสัญญาณดอกเบี้ยในปีหน้า อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ แม้ว่า กนง. จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไว้ที่ระดับเดิมตามที่ตลาดคาด เนื่องจากเงินดอลลาร์ฯ กลับมาเผชิญแรงขาย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสกุลเงินปลอดภัย (ทั้งเงินเยนและเงินบาท) หลัง ประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ถูกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ลงมติถอดถอนจากตำแหน่ง ประกอบกับมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด อาทิ ยอดขายบ้านมือสองเดือนพ.ย. และผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด )สาขาฟิลาเดลเฟียเดือน ธ.ค.
ในวันศุกร์ (20 ธ.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 30.17 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 30.21 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (13 ธ.ค.)
ดัชนีตลาดหุ้นไทยกลับมาปิดใกล้เคียงสัปดาห์ก่อนที่ระดับ 1,572.92 จุด ลดลง 0.06% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 56,837.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.32% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ลดลง ร้อยละ1.40 จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 310.49 จุด
ตลาดหุ้นไทยร่วงลงช่วงต้นสัปดาห์ ตามแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนสถาบันท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับปัจจัยในประเทศ แม้จะมีปัจจัยบวกจากสัญญาณคลี่คลายของข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนก็ตาม อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ดีดตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ ตามแรงซื้อคืนหุ้นขนาดใหญ่ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะธนาคารและสื่อสาร ซึ่งอาจเป็นผลของการทำ Window Dressing และแรงหนุนจาก LTF/RMF
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (23-27 ธ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.10-30.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,565 และ 1,555 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,590 และ 1,600 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนพ.ย. ของไทย การทำ Window Dressing ช่วงปลายปี สถานการณ์การค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน รวมถึงประเด็น Brexit ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนพ.ย. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ รายงานการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกเดือนพ.ย. ของญี่ปุ่น รวมถึงกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย.ของจีน-สำนักข่าวไทย