กทม. 19 ธ.ค.-ปัญหาการกลั่นแกล้งที่ส่งผลบานปลายมาเป็นการยิงกันในโรงเรียนของนักเรียนชั้น ม.1 ที่จังหวัดนนทบุรี แทบจะเป็นกรณีแรกๆ ในไทย กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่นชี้ครอบครัว โรงเรียน และสังคมอ่อนแอ เด็กไม่มีแบบอย่างการจัดการอารมณ์ แนะใช้วิธี “คลุกวงในแบบจับถูก” ช่วยลดปัญหา Bully
เหตุนักเรียนชายชั้น ม.1 ขโมยปืนพกบิดามาจ่อยิงศีรษะเพื่อนร่วมชั้นเสียชีวิตหน้าห้องเรียน ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง พื้นที่อำเภอเมืองนนทบุรี โดยอ้างว่าทำไปเพราะถูกเพื่อนล้อว่าเป็นตุ๊ดเกย์ และด่าลามไปถึงบุพการีนั้น ทำให้หลายฝ่ายเร่งหาสาเหตุของพฤติกรรมรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะเหตุยิงกันในโรงเรียนพบน้อยมากในประเทศไทย
ทีมข่าวสำนักข่าวไทยลงพื้นที่โรงเรียนที่เกิดเหตุ หลังเกิดเหตุสลดวานนี้ พบว่าวันนี้ยังมีการเรียนการสอนตามปกติ เมื่อสอบถามกับสำนักงานผู้อำนวยการโรงเรียน ได้รับคำตอบว่าไม่สะดวกที่จะให้รายละเอียดประเด็นนี้
ขณะที่ช่วงบ่ายมีรถของกรมสุขภาพจิตเข้ามาที่โรงเรียน สอดคล้องกับที่นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุไว้วานนี้ว่าจะส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท ประกอบด้วย โรงพยาบาลศรีธัญญา สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 4 ลงพื้นที่ดูแลเยียวยาจิตใจเด็กนักเรียน ครูอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบ
กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่นให้ข้อมูลว่า กลั่นแกล้งรังแก หรือ Bully แบ่งได้เป็นการบังคับหรือทำร้ายทางกาย การทำร้ายจิตใจความรู้สึก การกลั่นแกล้งทางสังคม เช่น เพื่อนไม่คบ และทางโซเซียล หรือ Cyberbullying ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับกรณีนักเรียนชั้น ม.1 อาจถูกกลั่นแกล้งรังแกหลายรูปแบบ
การกลั่นแกล้งในโรงเรียนมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น บางครั้งอาจเข้าข่ายการทารุณกรรม เช่น คลิปนักเรียนตบกัน ส่วนหนึ่งมาจากโลกโซเชียลที่กลุ่มวัยรุ่นเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ระบุว่าช่วงวัยรุ่น อิทธิพลของฮอร์โมนเพศจะทำให้สมองส่วนอารมณ์รุนแรงมากกว่าช่วงวัยอื่น 3-5 เท่า สิ่งที่จะเป็นเสมือนเบรกเกอร์ช่วยยับยั้งอารมณ์ คือสมองส่วนความคิดชั้นสูง ซึ่งต้องได้รับการฝึกฝนแต่เด็กจาก 4 ด่านที่จะช่วยได้ คือ บ้าน โรงเรียน ชุมชน และเพื่อน แต่ปัจจุบันพบว่าสิ่งเหล่านี้กลับอ่อนแอ
กุมารแพทย์แนะวิธีการที่พ่อแม่และครูที่จะเข้าใจและช่วยให้เด็กมีพัฒนาการจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ โดยการใช้วิธี “คลุกวงในแบบจับถูก” คือแทนที่จะคอยจับผิด เหน็บแนม ประชดประชัน แต่ควรมองหาข้อดี พูดคุยอย่างมีเหตุผล และชมเชย ซึ่งจะช่วยให้เด็กจดจำและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ช่วยลดปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกได้.-สำนักข่าวไทย