กรุงเทพฯ 19 ธ.ค. – กรมสรรพากรคาดภาษี e-Business บังคับใช้ปี 64 หวังดึงผู้ค้าออนไลน์เข้าระบบ 170,000 ราย
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) จากผู้ให้บริการในต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีเร่งรัดให้จัดเก็บภาษี e-Business อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งผู้ค้าในและประเทศ เพราะขณะนี้ผู้ค้าออนไลน์ต่างประเทศไม่ได้ตั้งบริษัทในประเทศไทย จึงต้องเสียภาษีลักษณะเดียวกัน ขณะนี้ร่างกฎหมายอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาหลายมาตรา จากนั้นจะเสนอสภาผู้แทนราษฎร เพื่อออกเป็นพ.ร.บ.บังคับใช้ คาดว่าบังคับใช้ในช่วงเดือนกันยายน 2563 เริ่มจัดเก็บภาษีปีงบประมาณ 2564 ตั้งเป้าเก็บภาษี e-Business ปีแรกประมาณ 4,000 ล้านบาท
สำหรับการปรับปรุงกฎหมายภาษีครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ระหว่างผู้ค้าที่จดทะเบียนร้านค้าและเข้าระบบฐานภาษีปกติกับร้านค้าที่อยู่ในโลกออนไลน์ เพื่อดูแลให้เท่าเทียม นอกจากนี้ กรมสรรพากรเตรียมแก้ไขกฎหมายกรม มาตรา 10 เชื่อมโยงข้อมูลของบริษัทยื่นเสียภาษีในไทยนำไปแลกเปลี่ยนข้อมูลให้กับกรมสรรพากรในต่างประเทศได้ด้วย เพื่อเป็นการเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เป็นการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษี e-Business ของบริษัทต่างชาติ ขณะที่การลงโทษผู้ประกอบการต่างชาติที่ไม่เข้าระบบการเสียภาษี e-Business หากมีการทำธุรกรรมซื้อขายสินค้าในไทยนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมว่าควรเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ ยอมรับว่าผู้ค้าออนไลน์ในระบบการซื้อขายตลาดกลางผ่านเว็บดัง อาทิ ลาซาด้า และช้อปปี้ สามารถตรวจสอบและนำเข้าสู่ระบบภาษีได้ง่าย แต่ยังมีผู้ค้ากว่า 100,000 ราย ขายสินค้าออนไลน์ผ่านเพจเฟสบุ๊คและเปิดขายส่วนตัว ทำให้ยากต่อการตรวจสอบ จึงต้องมีกองสำรวจธุรกิจนอกระบบขึ้นมาดูแลเป็นการเฉพาะ ปัจจุบันมีผู้ค้าออนไลน์ในระบบภาษี ประมาณ 100,000 ราย และมีการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับผู้ค้าได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งปีงบประมาณ 2563 กรมตั้งเป้าจะดึงผู้ค้าออนไลน์เข้าสู่ระบบภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 170,000 ราย โดยเชื่อว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีจากผู้ค้าออนไลน์ได้มากกว่า 1,000 ล้านบาทแน่นอน.-สำนักข่าวไทย