กรุงเทพฯ 17 ธ.ค. – จีพีเอสซีขอศึกษากรอบโรงไฟฟ้าชุมชนก่อนจะตัดสินใจลงทุนหรือไม่ ด้านกลุ่มพลังงานทดแทนชมเปราะโครงการดี เชื่อมั่นโปร่งใส และรัฐจะกำหนดรายละเอียด Local Content
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ จีพีเอสซี แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. กล่าวว่า การลงทุนระบบเอนเนอร์ยี่ สตอเรจ โรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) ขนาด 10 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) ในสหรัฐนั้น ขณะนี้มีทิศทางชัดเจนมากขึ้น และยังอยู่ระหว่างรอผ่านตามขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งน่าจะเปิดเผยรายละเอียดเบื้องต้นได้ในช่วงต้นปี 2563 โดยจีพีเอสซีกำลังพัฒนาธุรกิจสมาร์ท เอนเนอร์ยี่ โซลูชั่น (Smart Energy Solution) ควบคู่การบริการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป
ส่วนจะร่วมทุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน หลังคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบหรือไม่นั้น จะต้องมาดูรายละเอียดทั้งหมด ขณะที่คาดว่าปีหน้ารายได้และกำไรจะดีกว่าปีนี้ เนื่องจากโครงการใหม่รับรู้รายได้ทั้งปี เช่น ไซยะบุรี โรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำลิก 1 ในลาว , โครงการศูนย์ผลิตสาธารณูปการ จังหวัดระยองแห่งที่ 4 (CUP-4) และโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม และการควบรวมกิจการกับโกลว์สร้างรายได้เต็มปี และจากการใช้พลังร่วมกับโกลว์แล้วคาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่ม capture value ต่อเนื่องและจะไปอยู่ในระดับ 1,600 ล้านบาท/ปี ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป
“โรงไฟฟ้าชุมชนเป็าหมาย คือ ช่วยเศรษฐกิจฐานราก ชุมชนร่วมถือหุ้นร้อยละ 10-40 จะไปดูรายละเอียดว่าจะมีชุมชนใดเข้าร่วมได้หรือไม่” นายชวลิต กล่าว
นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ปรึกษาสมาคมการค้าพลังงานขยะ กล่าวว่า กรอบการดำเนินโรงไฟฟ้าชุมชนที่ได้รับความเห็นชอบจาก กพช.วานนี้ (16 ธ.ค.) เป็นเรื่องที่ดี มีเพียงกลุ่มผู้ปลูกหญ้าเนเปียร์และเลี้ยงวัว อยากให้กระทรวงพลังงานทบทวนว่า มูลวัวหากนำมาผลิตไฟฟ้าร่วมกับหญ้าเนเปียร์แล้วน่าจะคิดเช่นเดียวกับก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน 100%) ที่ได้รับค่าอุดหนุน FIT 5.3725 บาท เพราะเกษตรกรจะได้ประโยชน์เต็มที่
ส่วนพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าชุมชนจากการติดตามเรื่องศักยภาพสายส่งไฟฟ้ารองรับแล้ว ก็พบว่าพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือสามารถรองรับก๊าซชีวภาพได้เป็นอย่างดีภาคใต้มีศักยภาพด้านชีวมวล ส่วนภาคเหนือจะมีทั้งชีวภาพและชีวมวล ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกมีศักยภาพต่่ำ เพราะเชื้อเพลิงชุมชนมีปริมาณต่ำ
นายพิขัย เชื่อมั่นว่า การคัดเลือกโรงไฟฟ้าชุมชนจะโปร่งใสระดับหนึ่ง โดยการคัดเลือกทางภาครัฐจะให้คะแนนจากความพร้อมของวัตถุดิบเชื้อเพลิงเป็นอันดับแรก ตามด้วยความพร้อมการลงทุน และพื้นที่การเมืองไม่น่าจะเป็นส่วนสำคัญของการตัดสินใจอนุมัติการลงทุนหรือไม่ เพราะโครงการนี้เป็นโครงการที่สร้างประโยชน์ต่อชุมชนระยะยาว 20ปี ให้ผลตอบแทนชุมชนสูง ดีกว่าหลายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าไม่ใช่พื้นที่ของพรรคร่วมรัฐบาล แต่เชื่อว่าจะเกิดการลงทุน ขณะเดียวกันยังเชื่อว่าเมื่อกำหนดรายละเอียดของการอนุมัติโครงการแล้วกระทรวงพลังงานจะกำหนดให้การลงทุนมีการใช้วัสดุอุปกรณ์ ภายในประเทศ (Local Content) อย่างน้อยร้อยละ 60 เพื่อให้โรงงานไทยได้ประโยชน์จากการลงทุนที่จะมีเม็ดเงินสูงถึง 70,000 ล้านบาท ในการลงทุนระยะแรก 700 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ ในปี 2563 จะมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกะวัตต์ (MW) และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ปี 2563-2564 รูปแบบร่วมทุนจะมาจากภาคเอกชนหรือร่วมกับภาครัฐถือหุ้นร้อยละ 60 – 90 และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน (มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน) ถือหุ้นสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 10 – 40 (เป็นหุ้นบุริมสิทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และเปิดโอกาสให้ซื้อหุ้นเพิ่มได้อีกรวมแล้วไม่เกินร้อยละ 40) มีค่า FIT อุดหนุนตามประเภทเชื้อเพลิง และกำหนดให้มีส่วนแบ่งจากรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับกองทุนหมู่บ้านที่อยู่ใน “พื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น” .- สำนักข่าวไทย