ศูนย์ข่าวภาคกลาง 17 ธ.ค.- สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มแล้ว พบสัญญาณจะรุนแรงว่าปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางลดลงต่อเนื่อง ลุ่มเจ้าพระยาเสี่ยงสุด น้ำเค็มทะลักจากปากน้ำเข้าใกล้แหล่งผลิตน้ำประปาหลัก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งวางแผนรับมือทั้งสั่งงดทำนาปรัง เตรียมผันน้ำจากแม่กลองช่วย
ข้อมูลกรมชลประทาน ณ วันที่ 1 ธ.ค. 2562 รายงานปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลาง 447 แห่ง รวม 49,078 ล้าน ลบ.ม. ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 60,141 ล้าน ลบ.ม. หรือหายไปเกือบ 20,000 ล้าน ลบ.ม. ในจำนวนนี้เป็นปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 25,193 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 48% ลดลง 18% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณน้ำใช้การได้ 36,211 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปริมาณน้ำที่ใช้การได้ลดลง 11,063 ล้าน ลบ.ม. เป็นการปรับลดลงเกือบทุกพื้นที่
พื้นที่เสี่ยงที่ปริมาณน้ำลดลงมากที่สุดคือ ภาคกลาง ลดลง 43% จาก 1,023 ล้าน ลบ.ม. เหลือเพียง 588 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 35% ขณะที่ปริมาณน้ำที่ใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลักลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวม 11,633 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 47% ของความจุ มีน้ำใช้การได้ 4,937 ล้าน ลบ.ม. หรือเพียง 27% ของความจุ ถือว่าน้อยมากหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 19,012 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 76% ของความจุ และใช้การได้ 12,316 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 68% ของความจุ เท่ากับน้ำใช้การได้หายไปเกินกว่าครึ่งจากปีก่อน ทั้งที่ฤดูแล้งเพิ่งผ่านไปเพียง 1 เดือน (พ.ย.) ยังเหลืออีก 5 เดือน ถึงเดือน เม.ย. 2563
เบื้องต้นกรมชลประทาน วางแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งปี 2562/2563 ในลุ่มเจ้าพระยาล่วงหน้าแล้ว คาดว่าปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ที่ 5,377 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น น้ำต้นทุนก้อนแรก 4,000 ล้าน ลบ.ม. (หรือ 65%) จะถูกจัดสรรช่วงเดือน พ.ย. 62-เม.ย. 63 สำหรับรักษาระบบนิเวศ 2,200 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 55% ของน้ำต้นทุน รองลงมาใช้อุปโภค-บริโภค 1,150 ล้าน ลบ.ม. หรือ 29% ปลูกพืชต่อเนื่องและอื่น ๆ อีก 515 ล้าน ลบ.ม. หรือ 13% และใช้ในภาคอุตสาหกรรม 135 ล้าน ลบ.ม. หรือ 3% หากไม่เพียงพอจะต้องผันน้ำจากกลุ่มน้ำแม่กลองเข้ามารวม 500 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนน้ำต้นทุนก้อนที่ 2 ปริมาณ 2,227 ล้าน ลบ.ม. หรือสัดส่วน 35% ของน้ำต้นทุน จะจัดสรรใช้ช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. 63 แบ่งเป็น น้ำอุปโภคบริโภค 1,845 ล้าน ลบ.ม. หรือ 83% ปริมาณน้ำสำรองกรณีฝนทิ้งช่วง 386 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 17% หากไม่เพียงพอจะจัดสรรน้ำแม่กลองมาช่วยอีก 350 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับปริมาณน้ำต้นทุนที่ปรับลดลงดังกล่าว ไม่เพียงสร้างความกังวลต่อการจัดการน้ำในฤดูแล้ง แต่น่าห่วงปัญหาน้ำเค็มที่จะทะลักเข้ามาด้วย เนื่องจากขณะนี้ค่าความเค็มทะลักเข้ามาแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำให้ค่าความเค็มบางพื้นที่สูงเกินมาตรฐานการผลิตน้ำประปาที่กำหนดไว้ 0.25-0.50 กรัม/ลิตร โดยเฉพาะบริเวณด่านจุดวัดค่าความเค็ม 3 จุด จากทั้งหมด 4 จุด คือ จุดที่ 1 กรมชลประทานสามเสน ห่างจากปากน้ำ 58 กม. ค่าความเค็ม 2.54 กรัม/ลิตร จุดที่ 2 ท่าน้ำนนท์ ห่างจากปากน้ำ 65.6 กม. ค่าความเค็ม 1.73 กรัม/ลิตร
จุดที่ 3 สะพานพระนั่งเกล้า ห่างจากปากน้ำ 69. กม. ค่าความเค็ม 0.92 กรัม/ลิตร จากจุดนี้ระยะทางไม่ถึง 40 กม. จะเข้าสู่จุดที่ 4 คือสถานีน้ำประปาสำแล ซึ่งห่างจากปากน้ำ 100 กม. ขณะนี้ค่าความเค็มอยู่ที่ 0.16 กรัม/ลิตร หากน้ำเค็มทะลักจากปากน้ำเข้ามาใกล้จุดที่ใช้เป็นแหล่งน้ำผลิตน้ำประปาหลัก คือ สถานีประปาสำแล อีกเพียง 31 กม.เท่านั้น
ล่าสุดสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีแนวปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกน เพื่อลดผลกระทบความเสียหายอันเกิดจากน้ำและแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยพื้นที่ต้องเฝ้าระวังคือภาคตะวันออก และจังหวัดแถบลุ่มเจ้าพระยา เพราะปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่าง ๆ ลดลง น้ำเค็มหนุนสูงเร็วขึ้น ได้ขอให้การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และประปาท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กรมน้ำ กรมน้ำบาดาล ร่วมประเมินสถานการณ์ และหาทางรับมือ
ส่วนปัญหาน้ำเค็มหนุน กรมชลประทาน จะเร่งผันน้ำแม่กลอง มาเจือจางทำให้ค่าความเค็มของลำน้ำต่างๆ ในลุ่มเจ้าพระยาดีขึ้น โดยสูบน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์ควบคุม ป้องกันผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วน นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้วางแผนการเพาะปลูกพืชช่วงหน้าแล้งปี 2562/63 จะเน้นปลูกไม้ยืนต้นมากขึ้น ไม่ส่งเสริมการทำนาปรังในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา .-สำนักข่าวไทย